“ถุงมือฆ่าเชื้อจากยางพารา” ผลงานนักศึกษา มจธ. คว้า 2 รางวัล ด้านนวัตกรรมระดับชาติ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ที่มาของโครงการประกวด ต่อยอดมาจากงานวิจัยของ ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการที่ทำการวิจัยและพัฒนายางพารามาอย่างต่อเนื่อง จนได้สูตรยางพาราผสมสังกะสีออกไซด์ (Zinc oxide) ที่มีคุณสมบัติสามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ รวมถึงเชื้อไวรัสและเชื้อดื้อยาบางชนิด โดยดำเนินการร่วมกับ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

จึงเป็นที่มาของแนวคิดนำงานวิจัยชิ้นนี้ มาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ของ 3 นักศึกษา จาก ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประกอบด้วย นางสาวปิยฉัตร เสียมไหม (แพร) นางสาวพรไพลิน ลิปภานนท์ (ผักกาด) ชั้นปีที่ 3 และ นางสาวพัชรินทร์ โพธิ์รัตน์ (แพร) ชั้นที่ปี 2 โดยมี ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี อาจารย์ที่ปรึกษา โดยนำสูตรผสมดังกล่าว มาผลิตเป็นถุงมือฆ่าเชื้อจากยางพารา (Disinfectant Para-rubber Glove)

“แพร” น.ส.พัชรินทร์ โพธิ์รัตน์ กล่าวว่า ด้วยจุดเด่นของสูตรการผลิตของอาจารย์ ที่ไม่ใช่การนำ Zinc oxide มาเคลือบบนพื้นผิวหน้ายาง แต่เป็นวิธีการผสมสารนี้เข้าไปในตัวเนื้อยางโดยตรง ทำให้ตัวผิวหน้าปลอดจากสารเคลือบ แต่ยังคงคุณสมบัติประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อดี ตนและเพื่อนจึงปรึกษากับอาจารย์ถึงการนำสูตรการผลิตนี้ มาพัฒนาเป็นถุงมือยางด้วยการหาเทคนิคการนำยางสูตรดังกล่าว มาขึ้นรูปเป็นถุงมือยางจนสำเร็จ ที่สำคัญยังพบว่า ถุงมือสูตรใหม่นี้ไม่ฉีกขาดง่าย และใช้งานได้ดี ทำให้ผลงานถุงมือยางนี้ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ประเภทนวัตกรรมทางด้านการแพทย์ จากเวทีการประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 จัดโดย สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

จากเวทีแรกสู่การส่งโครงการเข้าร่วมประกวดในเวที Thailand Innovation Awards 2022 หรือ TIA จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในเวลาต่อมา โดย “แพร” น.ส.ปิยฉัตร เสียมไหม กล่าวว่า เนื่องจาก TIA เป็นเวทีประกวดนวัตกรรมระดับประเทศ จึงสนใจนำผลงานที่เรามีเข้าร่วมประกวดด้วย และอยากเห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ของทีมอื่น อยากเปิดโลกและหาประสบการณ์ โดยเฉพาะเรื่องของการตลาด เพราะเวที TIA จะเน้น 2 ด้าน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และการตลาด ส่วนที่เลือกถุงมือฆ่าเชื้อจากยางพารา มาประกวดนั้น เพราะอยากนำเสนอว่า มจธ.มีองค์ความรู้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางด้านการแพทย์ที่มีจุดเด่นด้านประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อได้ทุกที่ ที่สำคัญสามารถควบคุมต้นทุนการผลิต และสามารถต่อยอดไปสู่เชิงธุรกิจได้จริง

“ในการประกวด TIA เรามีการวิเคราะห์ด้านการตลาดเพิ่มเติม ทั้งการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่า และความต้องการใช้ทั้งในตลาดโลกและในบ้านเรา เพื่อหาส่วนแบ่งการตลาดที่สามารถทำได้จริง เพื่อนำตัวเลขนี้มาคำนวณข้อมูลการลงทุน ตั้งแต่กำลังการผลิต ขนาดของเครื่องจักร ค่าแรงงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ เพื่อทำให้แผนการตลาดนี้มีความเป็นไปได้จริงมากที่สุด แต่เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ในสายนี้ ไม่เคยรู้เรื่องการตลาดมาก่อน จึงต้องทำงานกันอย่างหนัก ในช่วงระยะเวลา 4 เดือน ช่วยกันค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งเรื่องการคิดต้นทุน การวางแผนการผลิต หรือแม้แต่รูปแบบการลงทุน รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มจุดแข็งให้กับผลิตภัณฑ์ โดยมีรุ่นพี่และอาจารย์คอยให้คำแนะนำ” น.ส.ปิยฉัตร กล่าว

สำหรับการทำแผนการตลาดครั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายส่วนแบ่งการตลาด 0.1% ของตลาดถุงมือยางในประเทศ หรือ เท่ากับ 362,800 กล่องต่อปี (100 ชิ้น/กล่อง) โดยใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิต 30,000 ชิ้นต่อชั่วโมง คิดเป็นเงินลงทุน สำหรับเป็นค่าเช่าพื้นที่ ค่าเครื่องจักร สายพานการผลิต และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภายในโรงงาน อยู่ที่ประมาณ 69 ล้านบาท ที่คำนวณแล้วพบว่า จะสามารถคืนทุนได้ภายในเวลา 2 ปีครึ่ง ด้วยจุดเด่นของผลงานชิ้นนี้ทั้งด้านนวัตกรรม และด้านการตลาด สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในระดับปริญญาตรี/ปวส. จากเวที Thailand Innovation Awards 2022 พร้อมรับเงินรางวัล 30,000 บาท (ไม่มีทีมชนะเลิศรางวัลที่ 1)

ด้าน “ผักกาด” น.ส.พรไพลิน ลิปภานนท์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ตนยังไม่ได้ปักหลักว่าอยากทำอะไรแน่ชัด แต่หลังจากได้มาประกวดและได้ศึกษาการทำแผนการตลาด ความชอบของตัวเองเริ่มแคบลง เริ่มสนใจด้านการตลาดมากขึ้น ทำให้มุมมองเรื่องการขายเรื่องการตลาดเปลี่ยนไป เพราะจริง ๆ แล้วมันมีรายละเอียดมากกว่าการคิดแค่ต้นทุน ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ตนมุ่งเรียนอย่างเดียว ไม่ได้สนใจเรื่องของการประกวดนวัตกรรม พอเรียนไปก็เกิดคำถามกับตัวเองว่า เรียนไปเพื่ออะไร นำความรู้ที่เรียนไปใช้ยังไงได้บ้าง พอได้มาประกวดทำให้เราเปิดโลกมากขึ้น ได้เห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ความรู้ใหม่ ๆ เจอสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ทำให้เรามีไอเดีย และสนใจอยากเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น

ขณะที่ “แพร” น.ส.พัชรินทร์ โพธิ์รัตน์  กล่าวเสริมว่า ส่วนตัวเคยประกวดมาก่อน ผลงานเกี่ยวกับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นเชิงทางการแพทย์อีกรูปแบบหนึ่ง แต่พอได้มาทำเกี่ยวกับด้านการตลาด เป็นการข้ามสายจากวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ มาเป็นสายการตลาด เป็นประสบการณ์ที่มีความแตกต่างจากที่เคยเรียนรู้มา ทำให้เปลี่ยน mindset เกี่ยวกับการตลาดใหม่ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการวางแผน และเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการเวลามากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ และกับหลาย ๆ ฝ่าย

เช่นเดียวกับ “แพร” น.ส.ปิยฉัตร เสียมไหม กล่าวเสริมว่า ส่วนตัวเป็นคนเน้นเรื่องของการประกวด เพราะชอบมาตั้งแต่ชั้นมัธยม แต่สิ่งที่ได้รับจากการแข่งขันครั้งนี้ เราได้เรียนรู้เรื่องของการบริหารจัดการเวลา ทำให้ต้องหันมาปรับปรุงตัวเองเรื่องของการเรียนคู่กับกิจกรรม จนสามารถแบ่งเวลาได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ความรู้ด้านการตลาดเยอะมาก จากปกติจะรู้แต่สายวิทยาศาสตร์ แต่พอมารู้จักการตลาด ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองเรื่องการตลาดไป จากตอนแรกคิดว่าการตลาดเป็นเรื่องของราคาเท่านั้น แต่ความจริง ยังต้องคำนวณ วิเคราะห์ หาข้อมูล และหาตัวเลขการลงทุน ด้วย

ปิดท้ายที่ ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวสรุปว่า ถุงมือฆ่าเชื้อจากยางพารา ถือเป็นงานวิจัยนวัตกรรมที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในด้านการแพทย์ เศรษฐกิจ การส่งออก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยเกษตรกรชาวสวนยางพาราในภาวะที่ยางพารามีราคาตกต่ำ ซึ่งผลงานดังกล่าว หากมีการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ถือเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

RANDOM

เดลินิวส์ จัดแข่งกอล์ฟการกุศล 60 ปี ชิงถ้วยรางวัลของ “องคมนตรี-พลากร สุวรรณรัฐ” และนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ที่สนามราชพฤกษ์ กำหนดมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 4 มี.ค.นี้ หารายได้เข้ามูลนิธิแสง-ไซกี เหตระกูล เพื่อออกหน่วยแพทย์และช่วยโรงพยาบาลขาดแคลน รวมถึงสาธารณกุศลด้านการศึกษาและอื่นๆด้วย

กองทุนการศึกษา เอ็กซอนโมบิล สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี มอบทุนการศึกษา 20 ทุน สำหรับนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่มีผลการเรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ประจำปี 2566 หมดเขตยื่นใบสมัคร 10 พ.ย. นี้

NEWS

กองทุนอนุสรณ์สุนทรภู่ ร่วมกับ สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย เชิญชวนเยาวชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจ ร่วมประกวดบทร้อยกรอง “นิทานคำกาพย์” เนื่องในวันสุนทรภู่ ประจำปี 2568 สมัครและส่งผลงานได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 6 มิถุนายน

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!