ทส. จับมือ ศธ. ขับเคลื่อนโครงการ “โรงเรียนอีโคสคูล” สร้าง “พลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม” อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ผนึกกำลัง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) สร้าง “พลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม” ปัจจุบันมีโรงเรียนอีโคสคูลแล้ว 611 โรงเรียน พร้อมเดินหน้าให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ และคัดเลือกเข้ารับรางวัล ASEAN Eco-School Award

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 65 ที่ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) ซึ่งเป็นความร่วมมือของทั้ง 2 กระทรวง ภายใต้วัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ พัฒนาโรงเรียนตามหลักการของโครงการ รวมถึงเพื่อเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก เจตคติ รวมถึงเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียนอีโคสคูล โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. , ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. เข้าร่วม

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เพื่อเป็นการตั้งรับ และปรับตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในปัจจุบัน และอาจเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านการบ่มเพาะ หรือ สร้าง “พลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม” (Green Citizen) ที่มีความตื่นตัว ตระหนัก และรับผิดชอบต่อเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนหนึ่งคนได้

โครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) เป็นการนำหลักการพัฒนาโรงเรียน ทั้งระบบ (Whole School Approach) และหลักสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) มาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ หรือ Community Based Learning ซึ่งเป็นกระบวนการในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมของตนเอง เกิดการคิดวิเคราะห์ ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น หรือ Problem Based Learning อันจะนำไปสู่การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็น “พลเมือง” ที่ใช้ชีวิตอย่าง “พอเพียง” เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ “ยั่งยืน” ตามเป้าหมายสูงสุดของโครงการ”

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้ มีกำหนดเวลา 5 ปี ซึ่งขอบเขตความร่วมมือของ ทส. จะเป็นผู้กำหนดนโยบาย ประสานงาน และมอบหมายหน่วยงานภายใต้ความรับผิดชอบ เพื่ออำนวยความสะดวก และสนับสนุนทรัพยากรแก่โรงเรียนในการดำเนินงานโครงการ รวมทั้งนิเทศติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนให้สอดคล้องกับพันธกิจ 4 ด้าน คือ 1) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและโครงสร้างการบริหารจัดการ 2) การจัดกระบวนการเรียนรู้ 3) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน 4) การมีส่วนร่วมและเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา

ด้าน นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ. ได้ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเกิดความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการนำสิ่งแวดล้อมมาสู่การจัดการเรียนการสอน หรือสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียนในสังกัดทุกระดับ โดยได้กำหนดนโยบายและจุดเน้น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในเรื่องของการจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก และส่งเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และส่งเสริมการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้สามารถเป็นอาชีพ และสร้างรายได้

การลงนามในวันนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่กระทรวงทั้งสอง ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach : WSA) เพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมและพัฒนานักเรียนให้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ ตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาของท้องถิ่น มีความรู้ ความเข้าใจ อันเป็นผลจากกระบวนการเรียนรู้ และการลงมือปฏิบัติจริง และพร้อมที่จะเข้าไปมีบทบาทในการป้องกัน ฟื้นฟู รักษา และใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้ริเริ่มโครงการโรงเรียนอีโคสคูลขึ้น ในปี พ.ศ. 2550 ภายใต้ชื่อ โครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเริ่มต้นจาก 41 โรงเรียนนำร่อง และปัจจุบันมีจำนวนโรงเรียนอีโคสคูลทั้งสิ้น 611 โรงเรียน โดยแบ่งเป็นโรงเรียนอีโคสคูลเครือข่ายเดิม ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 – 2563 จำนวน 277 โรงเรียน ระดับต้น จำนวน 254 โรงเรียน ระดับกลาง จำนวน 66 โรงเรียน และศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนอีโคสคูล จำนวน 14 ศูนย์

ในการดำเนินงานนั้น ได้พัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน รวมถึงการขยายผลโครงการ โดยแบ่งระดับการดำเนินโครงการ ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับต้น (Beginner) ระดับกลาง (Intermediate) และระดับสูง (Advance) พร้อมทั้งยกระดับโรงเรียนอีโคสคูล ที่มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ตามกรอบพันธกิจ 4 ด้าน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนอีโคสคูล เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูลในประเทศไทย และคัดเลือกให้เข้ารับรางวัล ASEAN Eco-School Award ต่อไป และในปี 2564 เป็นปีแรกในการเปิดรับสมัครโรงเรียนอีโคสคูลระดับต้น โดยมีโรงเรียนที่ผ่านการพิจารณาผลการดำเนินงานและประกาศให้เป็นโรงเรียนอีโคสคูล ระดับต้น จำนวน 254 โรงเรียน

RANDOM

error: Content is protected !!