สัตวแพทย์ จุฬาฯ แนะวิธีรับมือ “โรคฝีดาษลิง” ย้ำอย่าตื่นตระหนก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ ป้องกันได้

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

“โรคฝีดาษลิง” มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในต่างประเทศ เป็นโรคที่ใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที สร้างความวิตกกังวลให้หลายคนที่กลัวว่าจะติดเชื้อหลังจากที่สถานการณ์โรคโควิด-19 เริ่มจะคลี่คลาย ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง เกษแดงสกลวุฒิ ภาควิชาพยาธิวิทยาและหน่วยชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนก พร้อมแนะวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยห่างไกลจากโรคนี้

จุดเริ่มต้นโรคฝีดาษลิง ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง อธิบายว่า โรคฝีดาษลิง เกิดจาก เชื้อไวรัส Monkeypox ซึ่งเป็นไวรัสที่มีความใกล้เคียงกับโรคฝีดาษคน หรือ ไข้ทรพิษ พบครั้งแรก เมื่อปี 2501 ในห้องแลปที่ประเทศเดนมาร์ก จากลิงที่ใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ส่วนการพบในมนุษย์พบครั้งแรก เมื่อปี 2513 ที่ประเทศคองโก ทวีปแอฟริกา ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ระบาด คือ แถบแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมาก คือ ไนจีเรีย เมื่อปี 2546 พบผู้ป่วยเป็นโรคฝีดาษลิงมีความสัมพันธ์กับสัตว์ คือ แพรีด็อก ซึ่งซื้อมาจากร้านขายสัตว์เลี้ยง โดยมีการสัมผัสใกล้ชิดแล้วโดนกัด จากการสืบสวนโรคพบว่ามีการเลี้ยงแพรีด็อกอยู่ในกรงใกล้ ๆ กับสัตว์ฟันแทะที่นำเข้ามาจากจากประเทศกาน่า ซึ่งสัตว์อาจจะมีพาหะอยู่แต่ไม่ได้แสดงอาการชัดเจน

การติดเชื้อและการแพร่ระบาดในปัจจุบัน พาหะของโรคฝีดาษลิง คือ สัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนู แพรีด็อก ฯลฯ โดยติดเชื้อได้จากการโดนสารคัดหลังจากสัตว์ป่วยที่มีเชื้ออยู่ สำหรับกลุ่มคนที่ล่าสัตว์และนำเนื้อมาชำแหละก็มีความเสี่ยงได้เช่นกัน ส่วนการแพร่เชื้อจากคนสู่คนพบในประเทศอังกฤษ เป็นการติดจากสารคัดหลั่ง เนื่องจากมีการใกล้ชิดกัน แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า ติดจากการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ ทั้งนี้ การแพร่กระจายเชื้อผ่านอากาศ (Airborne) ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง กล่าวว่าสามารถเกิดขึ้นได้ แต่น้อยมาก ปัจจุบันโรคฝีดาษลิงกลับมาแพร่ระบาดมากขึ้น จากการเดินทางข้ามประเทศมากขึ้น ที่เป็นข่าวแพร่หลายในระยะนี้ เนื่องจากมีการระบาดหลายประเทศพร้อมกัน

ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง กล่าวว่า ระยะ 3-4 วันแรก ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัส คือ มีไข้ ปวดหัว ปวดตัว ไม่มีแรง บางคนอาจเจ็บคอ หลังจากนั้นที่ผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่น ตุ่มหนอง ขึ้นเหมือนอีสุกอีใส แล้วก็จะค่อย ๆ แห้งกลายเป็นสะเก็ด และสามารถหายเองได้ในระยะเวลา 2-4 สัปดาห์

“โรคนี้ไม่ได้รุนแรงมาก เมื่อติดเชื้อแล้วมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1-10 % เท่านั้น ถึงแม้อัตราการเสียชีวิตจะต่ำ แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ เราไม่รู้ว่าใครติดแล้วจะรุนแรงแค่ไหน ดังนั้น ควรป้องกันตนเอง และไม่ไปสัมผัสเชื้อจะดีที่สุด” ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง กล่าว

วิธีรักษาและวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง เนื่องจากโรคฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัส จึงไม่มีวิธีการรักษา แต่มีการศึกษาเกี่ยวกับโรคฝีดาษสำหรับคนที่มีการปลูกฝี พบว่า สามารถป้องกันได้ 85% ซึ่งปัจจุบันไม่มีการปลูกฝีให้เด็กเช่นคนรุ่นก่อน การทดลองให้ยาต้านไวรัสสำหรับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี 100% กำลังอยู่ในขั้นการทดลอง และต้องศึกษาอย่างละเอียด เนื่องจากยาต้านไวรัสอาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ สำหรับเรื่องของวัคซีน ในอดีตมีวัคซีนฝีดาษในคน แต่ประเทศไทยหยุดการฉีดวัคซีนฝีดาษ เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคน้อยลง ทั้งนี้ วัคซีนฝีดาษสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 80% เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกัน

“วัคซีนฝีดาษลิงนั้น มีความเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับอุบัติการณ์ของโรคนี้ว่ามีมากน้อยเพียงใด ความสำคัญของโรคมีมากขึ้นหรือไม่ สถานการณ์ปัจจุบันอาจยังไม่สามารถระบุได้ว่า จำเป็นต้องมีการใช้วัคซีนในประชาชนทั่วไปหรือไม่ เนื่องจากการกระจายของเชื้อยังเป็นกระจุกเท่านั้น” ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง ให้ความเห็น
การเตรียมความพร้อมรับมือและการป้องกันโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย

ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง เปิดเผยว่า สิ่งที่น่ากังวลที่สุดของโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย คือ การเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะที่ด่านสนามบินต้องเฝ้าระวัง และมีระบบตรวจสอบผู้คนหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาว่าไปที่ไหนมาบ้าง มีอาการป่วยหรือไม่ ซึ่ง กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลในส่วนนี้แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ต้องระวัง คือ สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะเลี้ยงสัตว์ฟันแทะ การนำสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสัตว์ต่างถิ่นเข้ามา โดยไม่รู้ที่มาเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะถึงแม้สัตว์จะเป็นพาหะนำโรค แต่อาการของสัตว์จะไม่แสดงออกชัดเจน จึงต้องเฝ้าระวังสัตว์ที่นำเข้ามา และควรให้ความรู้กับคนที่เลี้ยงสัตว์ต่างถิ่น ในเรื่องความเสี่ยง และวิธีการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล

“สำหรับการป้องกันโรคฝีดาษลิง สุขอนามัยที่เราป้องกันโควิด-19 ในขณะนี้สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้เช่นกัน เพราะโรคฝีดาษลิงจะติดได้จากสารคัดหลั่ง การเว้นระยะห่างกัน 1-2 เมตร ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ และ แอลกอฮอล์เจล หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการ ก็จะสามารถช่วยป้องกันโรคนี้ได้” อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

error: Content is protected !!