นักวิจัย มทร.ล้านนา ยกระดับผ้าพื้นถิ่น สร้างแบรนด์ Lanna Cotton Craft เพิ่มมูลค่าภูมิปัญญาดั้งเดิม

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นถิ่น หรือเครื่องประดับจากผ้า เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับการพัฒนา และยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่สามารถจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชนตามนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยผ้าทอพื้นเมืองที่ทอและแปรรูป จึงนับได้ว่าเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง และเป็นสาขาหนึ่งในเจ็ดสาขาตามที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมได้กำหนดไว้ คือ สาขาภูมิปัญญาไทย เนื่องจากผ้าทอพื้นถิ่นจะมีความแตกต่างกันตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของแต่ละพื้นที่ ทั้งเนื้อผ้า ลวดลาย และ วิธีการ

นายสุริยนต์ สูงคำ เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวถึงวัตถุประสงค์การวิจัยและพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือ ย้อมสีธรรมชาติ ด้วยนวัตกรรมสู่การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ว่า ในการส่งเสริมและยกระดับผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นถิ่นของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่ผ่านมา ได้สนับสนุนให้อาจารย์ และนักวิจัยลงพื้นที่ เพื่อสำรวจปัญหา สถานการณ์ด้านผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นถิ่นของกลุ่มผู้ประกอบการในระดับต่าง ๆ ทำให้ทราบปัญหา และนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคุณภาพของกระบวนการผลิต จนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์สินค้าให้มีความหลากหลาย การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ แต่การดำเนินการดังกล่าว ยังขาดมิติที่เชื่อมการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าประเภทผ้าและสิ่งทอ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นการเกิดห่วงโซ่คุณค่าใหม่ในผลิตภัณฑ์

โดยนักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลกลุ่มผู้ประกอบการประเภทผ้าและสิ่งทอพื้นที่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ทำให้ได้กลุ่มเป้าหมายในการศึกษา จำนวน 11 กลุ่ม ครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ ลำพูน และอุตรดิตถ์

นอกจากนั้น คณะวิจัยยังได้วิเคราะห์สถานการณ์ก่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ โดยสถานการณ์ของงานต้นน้ำ พบว่า มีกลุ่มเป้าหมายที่ปลูกฝ้าย ซึ่งจะมีต้นทุนการผลิตที่สูง กระบวนการสกัดสีย้อมเส้นด้ายฝ้าย มีกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยาก ใช้เวลานาน ส่วนงานกลางน้ำ พบว่า ต้นทุนการทอเส้นด้ายเป็นผืนผ้าสูง วัตถุดิบขาดคุณภาพ (แข็ง หยาบ) ไม่เหมาะสมที่จะนำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์ กลุ่มผู้ประกอบการทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าผืนเป็นเสื้อสำเร็จรูป โดยผ้า 1 ผืน ต้นทุนสูง แต่ขายในราคาถูก ส่งผลให้มีรายได้ไม่มาก ในกระบวนการผลิตและแปรรูปมีเศษวัสดุเหลือทิ้งในกระบวนการ ส่วนงานปลายน้ำ พบว่า ด้านบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการมากกว่า 50% ไม่มีบรรจุภัณฑ์ กรณีของกลุ่มที่มีบรรจุภัณฑ์ หีบห่อไม่สวยงาม และไม่ทันสมัย

นายสุริยนต์ กล่าวต่อว่า เมื่อศึกษาด้านการตลาด พบว่า มีการแข่งขันทางด้านการตลาดที่ค่อนข้างสูง การตั้งราคาของแต่ละกลุ่ม ไม่สอดคล้องกับต้นทุนของสินค้า ทำให้ประสบปัญหาทางการเงินจนเกิดภาวะขาดทุน ซึ่งช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยกรณีออนไลน์ มีปัญหาเรื่องการอัพเดตข้อมูลผลิตภัณฑ์ และการจัดวางรูปแบบสื่อ ส่วนกรณีออฟไลน์ พบว่า การตกแต่งหน้าร้าน ยังขาดข้อมูลข่าวสารเพื่อร่วมจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมจัดห่วงโซ่อุปทานการค้าที่เป็นธรรม

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ดังกล่าว การศึกษาจะมุ่งเน้นการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานการผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้้ำ โดยต้นน้ำเป็นการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ เพิ่มกำลังการผลิตวัตถุดิบ ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต พัฒนากระบวนการย้อม การพัฒนาผืนผ้าที่มีคุณลักษณะเหมาะสมแก่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ขณะที่ กลางน้ำ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ของใช้และของที่ระลึก และปลายน้ำ คือ การพัฒนารูปแบบแนวทางการจำหน่ายสินค้า ตลอดจนถึงการพัฒนาแนวทางในการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม กลุ่มผู้ประกอบการผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติตลอดห่วงโซ่อุปทาน

นายสุริยนต์ กล่าวด้วยว่า หลักการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้า และสิ่งทอ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการขายสินค้าหัตถกรรม เพราะผู้ซื้อมักจะไม่ชอบความจำเจ ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพสินค้าหัตถกรรมแต่ละชนิด ย่อมจะแตกต่างกันไป ตามลักษณะเฉพาะตัวของสินค้า โดยสินค้าที่มีประโยชน์ทางด้านการใช้สอย จะต้องมีรูปแบบใหม่สวยงาม และจะต้องมีความคงทนด้วย ส่วนสินค้าที่เป็นของที่ระลึก จะต้องเน้นถึงวัสดุใช้สอยในท้องถิ่นนั้น ๆ แสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ คุณค่าความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ความประณีต พิถีพิถันในการผลิต ซึ่งสินค้าประเภทที่ใช้ในด้านการตกแต่งและเครื่องประดับชนิดต่าง ๆ จะต้องเน้นทั้งในด้านความงดงามของศิลปะ และรูปแบบซึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม รูปแบบให้มีความแปลกใหม่ มีการนำเอาเทคนิคการผลิตสมัยใหม่ รวมทั้งเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาช่วย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดี และต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงจนเกินไป จึงนำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องแต่งกาย ของใช้และเครื่องประดับ ภายใต้แบรนด์ Lanna Cotton Craft ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นการผนึกกำลังในทางการตลาด เพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า ซึ่งจะส่งผลดีด้านยอดขายและจะส่งผลดีต่อชื่อเสียงของแบรนด์ โดยให้โอกาสกลุ่มผู้ประกอบการทั้ง 11 กลุ่ม เข้าร่วมนำสินค้าที่ผลิตตามงานต้นแบบเข้ามาจำหน่าย เป็นการสร้างเสริมโอกาสให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างมีศักยภาพ และมีความสามารถในการทำธุรกิจมากขึ้น

ส่วนตลาดออฟไลน์ ได้ทดสอบการจำหน่ายในงานแฟร์ที่จังหวัดจัดขึ้น งานจัดแสดงสินค้า ที่กรุงเทพมหานคร งานบ้านและสวน งาน Crafts Bangkok 2020 โดย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ตลาดจริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทุกวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ที่เป็นตลาดเฉพาะสินค้าจากธรรมชาติเท่านั้น ผลการทดสอบตลาด พบว่า ลูกค้าให้ความสนใจและซื้อผลิตของ Lanna Cotton Craft โดยมียอดจำหน่ายรวมถึง 1,550,720 บาท

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังคำนึงถึงการต่อยอดผลิตภัณฑ์ดาวเด่น ให้มีการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือของชุมชน เพื่อให้เกิดการสื่อสารการตลาด และหาช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

สำหรับผูู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ผ้าและสิ่งทอ สามารถติดต่อได้ที่ เว็บไซต์ www.lannacottoncraft.com , Facebook Page : lanna cotton crafts และ Line@ lannacottoncraft

RANDOM

error: Content is protected !!