โรคซึมเศร้า (Depression) ภัยร้าย ใกล้ตัว ทำความเข้าใจ ยอมรับ รักษา หายป่วยได้

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สืบเนื่องจากข่าวอาจารย์ท่านหนึ่งของโรงเรียนชื่อดังเมืองแปดริ้วเครียดหนัก เพราะถูกบังคับให้หานักเรียนใหม่เข้ามาเรียนตามยอดที่ให้ไว้ พอใกล้เปิดเทอมเมื่อเป้ายังไม่ถึง ถูกต่อว่าและเรียกไปด่าจนอับอาย จึงทำให้เธอกดดันและคิดสั้น ดิ่งตึกของอาคารเรียนที่อยู่ตรงชั้น 5 ลงมาเสียชีวิตนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรคซึมเศร้าที่เกาะกินคนในสังคมยุคนี้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ หากป่วยแล้วจะมีวิธีการรักษา หรือ ดูแลตัวเองอย่างไร  Station-Thai ค้นหาคำตอบมาให้ค่ะ

โรคซึมเศร้าสามารถเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม สารเคมีในสมองไม่สมดุล หรือเจอกับเหตุการณ์สะเทือนจิตใจ อย่างการหย่าร้าง ตกงาน พ่อแม่แยกทางกัน รวมไปถึง นิสัยส่วนตัวที่เป็นคนคิดลบ มองโลกในแง่ร้าย ก็ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

ความเศร้าที่เผชิญ ไม่ใช่โรคซึมเศร้าเสมอไป อาจเป็นอารมณ์เศร้า หรือภาวะซึมเศร้า แต่หากเป็นโรคซึมเศร้า จะสังเกตเห็นความเศร้าอย่างชัดเจน เป็นซ้ำ ๆ วนๆ อยู่นานหลายสัปดาห์ ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง มีปัญหาเรื่องการกิน การนอน ไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ

โรคซึมเศร้าคืออะไร?

โรคซึมเศร้า หรือ โรคประสาทซึมเศร้า มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Depression เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ที่ส่งผลกระทบได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้รู้สึกเศร้า วิตกกังวล ไม่มีความสุข อยากร้องไห้ นอนหลับยาก และปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง จนส่งผลต่อกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต ทั้งการเรียนและการทำงาน

ประเทศไทยมีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากว่าล้านคน แต่เข้ารับการรักษาเพียงแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โรคซึมเศร้าแบ่งออกเป็นหลายประเภท ซึ่งจะมีอาการและระยะเวลาที่แตกต่างกัน

ประเภทของโรคซึมเศร้า

1. โรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชัน (Major Depression) เป็นโรคซึมเศร้าประเภทหนึ่งที่จะมีอาการต่าง ๆ ของโรคเกิดขึ้นบ่อยครั้งใน 1 วัน และติดต่อกันหลายวัน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้า อยากร้องไห้ หรือหงุดหงิดง่าย ส่งผลกระทบเรื่องการกินอาหาร การนอน และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

2. โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย (Dysthymia Depression) สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย จะมีอาการซึมเศร้าแบบเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันประมาณ 2-5 ปี มีอาการเบื่อ เศร้า แต่จะไม่รุนแรงเท่าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชัน และผู้ป่วยยังสามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตได้

3. โรคซึมเศร้าแบบไบโพลาร์ ดิสออร์เดอร์ (Bipolar disorder)

ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าชนิดนี้ จะมีอารมณ์เศร้า เบื่อหน่ายชีวิต (ระยะซึมเศร้า) สลับกับมีอาการคึกคัก และหงุดหงิด (ระยะแมเนีย) เรียกอีกอย่างว่า โรคอารมณ์สองขั้ว หรือ โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder)

4. โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postnatal Depression) โรคซึมเศร้าหลังคลอด หรือ Baby Blues มักเกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอด ในช่วง 6 สัปดาห์แรก หรือจนกว่าลูกจะเริ่มโต และมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยทางจิตมากกว่าคุณแม่กลุ่มอื่น เกิดจากกิจวัตรประจำวันและสภาพแวดล้อมของคุณแม่ที่เปลี่ยนไป รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค
โรคซึมเศร้าได้

5. โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ (Late-Life Depression) เป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดกับผู้สูงวัยที่มีอายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป พบได้ 10-20% และมักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการของโรคมีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงขั้นมีอาการจิตหลอน และฆ่าตัวตายได้ เกิดจากสารสื่อประสาท สภาพแวดล้อม และเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ

6. โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ( Seasonal Affective Disorder: SAD) ในประเทศที่มีฤดูหนาวทำให้ระยะเวลาของกลางวันสั้นกว่ากลางคืน เป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดความเศร้า ความเบื่อหน่าย สิ้นหวัง และนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ แต่เมื่อฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อนมาถึง อาการของผู้ป่วยก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น

สาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้า

มีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งสาเหตุที่เป็นไปได้ คือ

  • สารเคมีในสมอง : โรคซึมเศร้าเกิดจากการขาดสมดุลของสารเคมีในสมอง ซึ่งประกอบด้วย 3 ชนิด คือ ซีโรโทนิน (Serotonin) โดพามีน (Dopamine) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine)
  • กรรมพันธุ์ : โรคซึมเศร้าสามารถเกิดจากการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม หากครอบครัวไหนที่มีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คนในครอบครัวก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน เช่น ฝาแฝดที่คนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า อีกคนจะมีโอกาสเป็นถึง 60 – 80% หรือ หากพ่อแม่พี่น้องแท้ ๆ เป็น เราก็มีโอกาสเป็นได้ 20% แต่ยังไม่มีการยืนยันว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากยีนส่วนไหนที่ส่งผลให้เกิดโรค
  • นิสัยส่วนตัว : ผู้ที่มีความไม่มั่นใจ หรือคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า (Low Self-esteem) รวมถึงมองโลกในแง่ลบ คิดในแง่ร้าย มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า
  • สภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ : คนที่เคยเจอเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การหย่าร้าง การแยกจากพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก การถูกทำร้าย หรือการตกงาน รวมถึงแรงกดดันอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า

นอกจากสาเหตุหลัก ๆ 4 อย่างนี้แล้ว ยังมีสาเหตุอื่นอีก เช่น เกิดจากภาวะหลังคลอด ภาวะก่อนมีประจำเดือน รวมถึงความเครียด แอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด การเป็นโรคบางอย่าง และการกินยาบางตัว ทั้งหมดนี้สามารถส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้

อาการของโรคซึมเศร้า

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีอาการที่บ่งบอกหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงอาการที่คล้ายกับโรคจิตเวชอื่น ๆ บางอาการก็เกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เป็นภาวะซึมเศร้าที่สามารถหายได้เอง มาดูกันว่าคนเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการอย่างไร และเงื่อนไขของอาการต่าง ๆ มีอะไรบ้าง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้ เกิดขึ้นอย่างน้อย 5 ข้อ

  • รู้สึกเศร้า อยากร้องไห้ เคว้งคว้าง หรือไร้ความหวัง อาการเกิดขึ้นบ่อย ๆ ใน 1 วัน
  • รู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจ หรือโกรธกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
  • รู้สึกขาดความสนใจ ไม่อยากทำ หรือไม่สนุกกับกิจกรรมที่ชอบ หรือกิจวัตรปกติที่เคยทำ
  • มีอาการเบื่ออาหาร หรือต้องการทานอาหารมากขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มและลดลงจากปกติ
  • รู้สึกนอนหลับยาก นอนน้อย หรืออยากนอนมากกว่าปกติ
  • รู้สึกร้อนรน วิตกกังวล และกระสับกระส่าย
  • รู้สึกเหนื่อยล้า หรือไม่มีพลังทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
  • รู้สึกไร้ค่าและรู้สึกผิดกับตัวเอง หรือสิ่งที่ทำ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน
  • ความสามารถในการจดจ่อ การคิด การตัดสินใจ และความจำลดลง
  • คิดอยากทำร้ายตัวเอง หรืออาจรุนแรงถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย

ซึ่งอาการเหล่านี้จะแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน และปรากฏในชีวิตประจำวัน ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรม การเรียน การทำงาน และการเข้าสังคม หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมถึงรู้สึกผิดหวัง เศร้า หรือไม่มีความสุขโดยไม่ทราบสาเหตุ

นอกจากนี้ยังมีอาการที่แสดงออกทางร่างกายอื่น ๆ อีก เช่น เคลื่อนไหวหรือพูดช้าลง ท้องผูก เจ็บหรือปวดตามร่างกายแบบไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย แรงขับทางเพศ (Labido) ลดลง ประจำเดือนมาไม่ปกติ

อาการที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไปพบแพทย์

เมื่อรู้สึกเศร้า หดหู่ ไม่มีความสุขเหมือนเคย ไร้เป้าหมาย มีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ประมาณ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา หรือการทำจิตบำบัด เพื่อให้อาการดีขึ้น

การรักษาโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่สามารถรักษาได้ โดยผู้ป่วยประมาณ 80-90% ที่ตอบสนองต่อการรักษาโดยจิตแพทย์ และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษา หลังจากแพทย์วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยมีอาการโรคซึมเศร้า จะมีวิธีรักษาตามความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

การทำจิตบำบัดเพื่อรักษาผู้ป่วยซึมเศร้า

เป็นการพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหา ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น หรือปรับทัศนคติ และวิธีคิดของผู้ป่วยเอง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีที่เรียกว่า Cognitive behavioral therapy (CBT) เป็นการบำบัดที่เน้นให้ผู้ป่วยเข้าใจในปัญหา และความคิดแง่ลบที่เกิดขึ้น ก่อนจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมเหล่านั้น ให้เป็นไปในแง่บวกมากขึ้น

การทานยา ยาที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. SSRI เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล กลไกหลัก คือ การยับยั้งการดูดซึมกลับของเซโรโทนิน
2. TCA เป็นกลุ่มยาที่ได้รับความนิยม ช่วยยับยั้งการดูดซึมกลับของสารสื่อประสาทหลายชนิด
3. NDRI เป็นอีกกลุ่มยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับรุนแรง

ยาแต่ละชนิดมีผลข้างเคียง ต้องได้รับการสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น และควรใช้ตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแจ้งอย่างเคร่งครัด

การรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy: ECT)

เป็นการใช้กระแสไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นต่ำ กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรง หรือผู้ที่รักษาด้วยจิตบำบัดและการทานยา แต่ไม่ดีขึ้น การรักษาด้วยไฟฟ้าจะเป็นการทำด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ทั้งจิตแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และพยาบาล โดยผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษา 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า

ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า หรือโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลตัวเอง ควบคู่กับการเข้ารับการรักษาจากแพทย์ เพื่อลดอาการของโรค ดังนี้

1. ทำตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ควรพบจิตแพทย์ทุกครั้งที่มีนัด แม้ว่าตอนนั้นเราจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม รวมถึงทานยาตามที่แพทย์สั่ง หากไม่ทำตาม อาจทำให้อาการกำเริบได้

2. พยายามศึกษาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า การที่เราศึกษาเกี่ยวกับโรคและทำความเข้าใจ ช่วยทำให้เรารู้จักอาการต่าง ๆ ดีขึ้น และช่วยให้เกิดแรงผลักดันในการรักษา

3. เฝ้าระวังสัญญาณของโรคซึมเศร้า สามารถสอบถามแพทย์ผู้ดูแล หรือนักจิตบำบัด ว่าอะไรคือสัญญาณบ่งบอกถึงโรคซึมเศร้า จะได้สังเกตอาการของตัวเอง และบอกเพื่อนหรือคนรอบข้างให้ช่วยสังเกตได้

4. งดแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิด เนื่องจากบางรายเป็นโรคซึมเศร้าจากการเสพสารเสพติด หรือติดแอลกอฮอล์ การกลับไปใช้หรือดื่มจะทำให้อาการแย่ลง และทำให้การรักษาจนหายขาดยากยิ่งขึ้น

5. ดูแลตัวเอง การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า คือ การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย และนอนหลับอย่างเพียงพอ เพราะกิจกรรมเหล่านี้ส่งเสริมให้สุขภาพจิตดีขึ้น รวมถึงการพยายามหากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย อย่างการฟังเพลง วาดภาพ การนวด หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ชอบ การเข้าสังคม พบปะพูดคุยกับเพื่อนและคนใกล้ชิด

การป้องกันโรคซึมเศร้า

นอกจากดูแลสุขภาพกายแล้ว ก็จำเป็นต้องดูแลสุขภาพจิตไปด้วย เพราะทั้งสองส่วนส่งผลซึ่งกันและกัน เราสามารถป้องกันตัวเอง หรือลดความเสี่ยงการเกิดโรคซึมเศร้าได้ ดังนี้

-กำจัดความเครียด แม้จะเป็นสิ่งที่ยากสำหรับบางคน รวมถึงมีปัจจัยทางพันธุกรรมที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด แต่การเรียนรู้ที่จะรับมือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะความเครียดสะสมสามารถนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

-หมั่นออกกำลังกาย มีการศึกษาระบุไว้ว่า การออกกำลังกายช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ ดังนั้น การออกกำลังกายหรือหากิจกรรมต่าง ๆ ทำ ช่วยเลี่ยงการเกิดโรคซึมเศร้าได้

-ใส่ใจเรื่องอาหาร โดยเฉพาะการทานผักและผลไม้สด เนื่องจากในอาหารเหล่านี้มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) หรือ การทำลายเซลล์ ส่งผลให้เกิดความเครียด อาหารจึงเป็นส่วนช่วยลดโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าได้

-พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากการนอนไม่หลับ (Insomnia) มีความเชื่อมโยงในการก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า ดังนั้นการป้องกันโรค คือ การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ หากเป็นโรคนอนไม่หลับ สามารถปรึกษาแพทย์ได้

-งดแอลกอฮอล์ และสารเสพติด สองสิ่งนี้ถือเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้า ดังนั้น ควรงดทั้งแอลกอฮอล์และสารเสพติด

-เลี่ยงสิ่งกระตุ้น โดยสิ่งกระตุ้นอาจอยู่รอบ ๆ ตัว เช่น การดูหนังบางเรื่อง การอ่านข่าวที่สะเทือนใจ การเล่นโซเชียลมีเดียที่มีคำพูดในแง่ลบต่าง ๆ

สุดท้ายนี้หวังว่า เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในเพจ Station-Thai ทุกคน จะมีสุขภาพกาย สุขภาพใจ ที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคซึมเศร้าทุกคนนะคะ

ขอบคุณข้อมูล จาก www.doctorraksa.com

RANDOM

มูลนิธิบัวหลวง เชิญชวนประชาชนผู้สนใจส่งภาพจิตรกรรมเข้าร่วมประกวด ‘จิตรกรรมบัวหลวง’ ครั้งที่ 45 ประจำปี 2567 ชิงเงินรางวัลรวม 1.35 ล้านบาท ส่งผลงานได้ ระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม นี้

error: Content is protected !!