คิดดีแต่อยู่เฉยๆ ก่อนดีกว่า เพื่อความสมหวังอย่างสง่างาม… ่วิพากษ์’ บทบาทรัฐบาลไทย กับแนวคิด การใช้ซีเกมส์เป็นเครื่องมือ ขับกัมพูชา จากการจัดในบ้านเรา

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

     คิดต่อเนื่องจาก คำสัมภาษณ์ ของ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ที่ให้สัมภาษณ์ย้ำ เรื่องกรณีความขัดแย้งกับกัมพูชา ที่จะต้องจัดการกับกัมพูชา ในเรื่องเกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 9-20 ธันวาคม 2568 นี้

เนื้อหา โดยสรุปคือ

     1.จะแจ้งผ่านสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ ที่ดูแลกีฬาซีเกมส์ เพื่อให้ประเทศสมาชิกซีเกมส์ทั้ง 11 ประเทศ ร่วมกันบอยคอต ในการที่ไม่ให้ประเทศกัมพูชาเข้าร่วมในการแข่งขันซีเกมส์ในครั้งนี้

     2.จะทำทุกวิถีทางไม่ให้มีประเทศกัมพูชาเข้ามาแข่งขันกีฬา ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ หนนี้

#แนวคิดดีทำได้แต่เขาจะสนใจเสียใจหรือกังวลใดๆไหม

     “สถานีความคิด” The Station THAI ขอร่วมคิดกับเรื่องราวนี้ โดยขอเริ่มจากพฤติกรรมของกัมพูชากับไทย เอาเฉพาเรื่องกีฬา เพื่อตอบคำถามว่า “เขาจะสนไหม” หากเราฟ้องสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ หรือไม่ยอมให้เขามาแข่ง  เพราะในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้นำกี่ยุคสมัย แต่ความคิดรากฐานนั้น กลายเป็นสิ่งที่ทำให้สรุปได้ว่า “ไม่เคยเปลี่ยน”

     เริ่มจาก กีฬาเซียพเกมส์ หรือ กีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 1 (2502) ที่กัมพูชาซึ่งร่วมก่อตั้งกีฬาเซียพเกมส์ร่วมกันกับหลายชาติในอาเซียน ต้นปี 2502 ก่อนจัดก็มาร่วมประชุมเพื่อวางงาน วางกติการ่วมกันกับหลายชาติอาเซียน แต่พอถึงเวลาไทยจัด และเริ่มมีปัญหาชายแดนกับไทย ก็เพิกเฉยไม่ส่งแข่ง เพราะมองว่าไทยเป็นชาติที่ขัดแย้ง

     ขณะที่เซียพเกมส์ครั้งที่ 2 (2504) ที่พม่า กัมพูชาส่งนักกีฬาร่วมแข่งและรับงานต่อตามคิวคือจะต้องเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 3 ใน ปี 2506

     แต่พอถึงเวลาที่จะรายงานความคืบหน้าก็เงียบ จนนำไปสู่การเลื่อนเซียพเกมส์ครั้งที่ 3 เพราะกัมพูชาไม่จัดก็ไม่แจ้ง จนทำให้สมาชิกเตรียมตัวไม่ทัน เซียพเกมส์ ที่ตกลงกันไว้ว่าจะจัด 2 ปี ต่อครั้ง ในปี 2506 จึงไม่มีจัดขึ้น (และเป็นช่วงเดียวนั้น ที่จำเป็นต้องว่างเว้นไป) เพราะมองว่าไทยเป็นชาติที่ขัดแย้งและเซียพเกมส์ไทยเป็นผู้ริเริ่ม

     ในปี 2508 มาเลเซียจัดเซียพเกมส์ครั้งที่ 3  กัมพูชาส่งนักกีฬาแข่ง และในการประชุมสหพันธ์กีฬาเซียพเกมส์ก่อนแข่ง ก็รับอาสาจะเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 4 ในปี 2510 และในวันปิดครั้งที่ 3 ก็มีพิธีรับธงและขึ้นป้ายสวยหรูว่าเจอกัน ที่พนมเปญ

     แต่จากนั้น  มีนาคม ปี 2510 ก่อนหน้าที่จะจัดคือช่วงปลายปี 2510 กัมพูชา ที่ถูกทวงถามจากชาติสมาชิกว่าจะเอาอย่างไรกับการเป็นเจ้าภาพเพราะไม่มีความเคลื่อนไหว เมื่อเจอถามมาก เขาก็ทำหนังสือแจ้งสหพันธ์กีฬาเซียพเกมส์ ว่าขอลาออกจากการเป็นสมาชิก และที่ตามมาก็คือ “ไม่จัดซีเกมส์ครั้งที่ 4”  สาเหตุที่ไม่ต้องคิดมากคือ เพราะกัมพูชาไม่สนใจที่จะทำอะไรที่ไทยร่วมงาน

     ชาติสมาชิกต้องร้องขอให้ไทยเป็นผู้จัด เพราะตอนนั้นไทยเพิ่งจัดเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 ในปี 2509 เสร็จสิ้น ซึ่งเพื่อความต่อเนื่องของเซียพเกมส์ ไทยจึงรับจัดในปลายปี 2510

      ถึงแม้กัมพูชาจะลาออกจากการเป็นชาติสมาชิกสหพันธ์กีฬาเซียพเกมส์ ช่วงนั้นแต่ต่อมา สหพันธ์กีฬาเซียพเกมส์ ก็โอนอ่อนและ รับเป็นสมาชิกอีกในโอกาสต่อมา  ซึ่งก็เหมือนๆ เดิมคือ ในขณะที่ชาติอื่นๆ จัด กัมพูชาก็เข้าร่วม และต่อมาไทยจัดครั้งที่ 8 กัมพูชาก็ไม่ส่งเช่นเดิม จนมาถึง ปี 2528 วนมาถึงไทยจัดในนามซีเกมส์ ครั้งที่ 13 การเมืองระหว่างชาติผ่อนคลาย กัมพูชาจึงส่งนักกีฬาเข้าร่วมซีเกมส์ที่ไทยเป็นครั้งแรก ในรอบ 26 ปี ที่มีการจัดกีฬานี้ขึ้น

     ซีเกมส์เดินไปได้สวย ชาติสมาชิกครบและมีเพิ่มเติมจนเป็น 11 ชาติ ก็นึกว่าปัญหาคาใจกับไทยเราจะยุติ แต่ก็ทำให้เห็นว่า รากลึกของความคิดผู้นำกัมพูชากับไทยไม่เคยเปลี่ยนคือ 2 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาจัดซีเกมส์เป็นครั้งแรก ก็ไม่จัดมวยไทย และนำกีฬามวยของตัวเองจัดแทน เพราะมีคำว่าไทย

     และหากย้อนความแสบ ที่ช่วงนั้นมีการระบุชัดเจนคือ “กัมพูชาจะทำทุกอย่างเพื่อด้อยค่าไทย” คือปี 2509 ที่ไทยเตรียมจัดเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 ในวันที่ 9-20 ธ.ค.2509 ที่นับว่าเป็นงานใหญ่ซึ่งเป็นหน้าตาของชาติไทย ทางกัมพูชาก็ขอจัดกีฬารายการหนึ่งคือ Ganefo เกมส์ (กีฬาที่อินโดนีเซียริเริ่ม เพื่อต่อสู้กับปัญหาเรื่องกีฬาที่ตัวเองเจอบอยคอต เลยจัดกีฬานี้ที่คล้ายโอลิมปิกเกมส์ โดยเชิญชาติที่อยู่ในกลุ่มสังคมนิยม ประเทศเกิดใหม่ช่วงนั้นเข้าแข่ง รวมทั้งกัมพูชาก็ไปแข่ง) โดยครั้งที่ 2 จัดที่เกาหลีเหนือ และกัมพูชาขอจัด Ganefo เกมส์  ในครั้งที่ 3 กัมพูชาจัดก็เปลี่ยนชื่อรายการมาเป็น 1st Asian GANEFO 1966 คล้ายกับกีฬาของชาวเอเชียครั้งที่ 1 และ เลือกปีที่จัด ปีเดียวกับไทยจัดเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 คือปี 2509 และชาติที่เชิญก็ชาติในเอเชีย ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นชาติที่ไทยเชิญแข่งเอเชี่ยนเกมส์

     และที่ชัดเจนในมุมมอง “ว่าเป็นเรื่องการเมืองชัดๆ”  คือกัมพูชาจัดระหว่าง 25 พ.ย.-6 ธ.ค.2509 ซึ่งเป็นก่อนที่เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 ที่ไทยจะเริ่มเพียง 3 วัน แต่ถึงจะรู้ว่ากัมพูชาทำงานนี้เพราะอะไร เพื่ออะไร แต่ไทยก็จัดได้สมบูรณ์เพราะชาติสมาชิกเอเชี่ยนเกมส์เลือกส่งนักกีฬามาแข่งที่ไทยครบ ส่วนงานกีฬาของกัมพูชานั้น มีชาติที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเอเชี่ยนเกมส์ส่งทีมชาติไปแข่งที่กัมพูชา ขณะที่ชาติซึ่งเป็นสมาชิกเอเชี่ยนเกมส์บางชาติที่ที่เห็นใจกัมพูชา ก็จัดส่งนักกีฬาระดับล่างๆ ไปแข่ง เพราะนักกีฬาทีมชาติส่งมาแข่งที่ไทย แล้ว

     นี่คือเรื่องราวหนึ่งในอดีตที่มองถึงปัจจุบันได้ ของ “กัมพูชากับไทย” ในเรื่องกีฬา ที่แล้วแต่ผู้อ่านจะสรุปเองว่าอย่างไร

กับคำถามง่ายๆ เบื้องต้นว่า

     1.กัมพูชามีรากลึกของปัญหากับไทย ที่แยกไม่ออก ใช่ไหม

     2.การร้องสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ให้ร่วมบอยคอตกัมพูชา มีโอกาสเป็นจริงไหม

     3.แท้ที่จริงกัมพูชากับเรื่องใดๆ ที่เราจะใช้คำว่าเจ้าภาพซีเกมส์ เป็นเครื่องมือ เขาจะสนอะไรไหม

และอยากจะขอร่วมตอบเองด้วยว่า

     1.กัมพูชามีปัญหากับไทยอย่างหยั่งรากลึกแน่นอนทุกด้าน

     2.การร้องสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ให้ร่วมบอยคอยกัมพูชา จะไม่เกิดผลใดๆ เพราะทุกชาติจะไม่ตัดสินใจตามที่ไทยหวัง ถึงแม้ไทยจะมีบทบาทสำคัญในซีเกมส์ก็ตาม

     3.กัมพูชาเขาจะไม่สนใจกับไทยที่จะใช้กีฬาซีเกมส์เป็นเครื่องมือ

#ถ้ามีคำถามว่าแล้วไทยจะทำอย่างไรต่อ….ก็ขอสรุปข้อคิดเห็นส่วนตัวแบบวิพากษ์ว่า แนวคิดกับทางที่จะเดินของรัฐไทยกับเรื่องนี้ไม่ผิดแต่ไม่ควร และมีข้อเสนอและเหตุผลดังนี้

     1.ไทยไม่ควรดิ้นไปนำเรื่องเข้าสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ ซึ่งทำได้ ตามขั้นตอนดูดี แต่จะไร้ค่า ทำให้ชาติสมาชิกอึดอัด เสียเครดิต เปล่าๆ เพราะรู้ผลอยู่แล้วว่าไม่มีทางที่ชาติสมาชิกจะร่วมแนวทางที่หวังของเรา

     2.ฝ่ายจัดการแข่งขันซีเกมส์หรือผู้นำกีฬารัฐไทย ไม่ควรต้องโชว์ความเข้มแข็ง ด้วยการต้องออกข่าวใดๆ ควรนั่งโลกสวยอยู่เฉยๆ  แบบไม่ต้องสนใจกัมพูชาในช่วงเวลานี้ เพราะโชว์มากจะมีผลอื่นๆ ตามมา สู้รอฟังเขาจะตัดสินใจเองไปเรื่อยๆ ดีกว่าแน่นอน

     3.สุดท้าย หากเมื่อถึงเวลาที่ต้องเชิญชาติสมาชิกร่วมอย่างเป็นทางการ หากรัฐไทยไม่อยากให้เขามา สิ่งที่ควรทำคือ ก็ไม่ต้องเชิญก็จบ เพราะเราเป็นชาติเจ้าภาพ เจ้าของพื้นที่ประเทศไทย

RANDOM

สํานักงานประกันสังคม ชวนเยาวชนโชว์ไอเดียสร้างสรรค์ ประกวดคลิปวิดีโอ ในหัวข้อ “เจ็บป่วยประกันสังคมช่วยดูแล” และ หัวข้อ “อุ่นใจวัยเกษียณ” ชิงทุนการศึกษารวม 230,000 บาท รับสมัครถึง 31 พ.ค. 66

NEWS

ซีพีแรม เชิญชวนคนรุ่นใหม่ร่วมปลุกจิตสำนึกรักษ์โลก ลด Food Waste ส่งผลงานเข้าประกวดคลิปวิดีโอ TikTok “ขอแค่ไม่ทิ้ง ก็เปลี่ยนโลกได้แล้ว” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 70,000 บาท สมัครและส่งผลงานได้ถึง 30 กันยายน

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!