เรื่องราวของ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ กำเนิดคู่กีฬาไทยมายาวนานและมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง…ก่อนที่จะถึงวันนี้

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

            คนวงการกีฬาทั้งระดับภูมิภาค ระดับชาติ คงเคยได้ยินชื่อของ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ บ่อยครั้ง และบ่อยครั้งมากขึ้นเรื่อย ๆ ในต่อ ๆ ไป

            แต่หลายท่าน หรือ บางส่วนอาจจะไม่ทราบว่า “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” หรือ ที่เรียกง่าย ๆ ว่ากองทุนกีฬา ที่ช่วยส่งเสริม-สนับสนุน และถือเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของวงการกีฬาไทยอยู่ในปัจจุบัน มีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ารู้ หรือ เพื่อการศึกษาของผู้ที่สนใจจะนำความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์

            เริ่มแรกของการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จัดตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2542 โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งกองทุนฯ เป็นหน่วยงานที่จัดอยู่ในประเภท เพื่อการสนับสนุนส่งเสริม ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด มีภารกิจให้การสนับสนุนส่งเสริมพัฒนากีฬาชาติไปสู่ความเป็นเลิศในระดับชาติและนานาชาติ

            ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2550 เรื่องเห็นชอบงบประมาณประจำปีไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท ทั้งนี้ให้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในแต่ละปี โดยสอดคล้องกับกิจกรรมทางด้านกีฬาที่กองทุนฯต้องสนับสนุนตามระเบียบ หลักเกณฑ์ เช่นข้อบังคับการกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการบริหารกองทุนการศึกษาของนักกีฬา พ.ศ.2547 ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติว่าด้วยการจัดการเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ.2548 และกองทุนสวัสดิการนักกีฬา ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนสวัสดิการนักกีฬา ว่าด้วยการบริหารการใช้จ่ายเงินกองทุน พ.ศ.2545 เป็นต้น

            กองทุนพัฒนาการกีฬาฯ ที่ได้กล่าวมาว่าจัดตั้งตามมติ คณะรัฐมนตรี วันที่ 16 ก.พ.2542 นั้น ต่อมากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เห็นว่าเพื่อต้องการปรับปรุงข้อกฎหมายให้สอดคล้องกับการดำเนินงานในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถส่งเสริม สนับสนุนได้ครอบคลุมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเพื่อเป็นการแก้ไขการขาดแคลนงบประมาณในระยะยาวให้การพัฒนากีฬาเกิดความต่อเนื่อง จึงมีนโยบายให้แก้ไขพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2528

            จากนั้นคณะรัฐมนตรีก็ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการประชุม ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2558 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว แล้วลงมติเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมาย ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 21 ก เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2558 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 27 มี.ค.2558

            สำหรับพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ตามมาตรา 133 กำหนดให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ตลอดจนงบประมาณของกองทุนการศึกษาของนักกีฬาตามข้อบังคับของการกีฬา ว่าด้วยการบริหารกองทุนการศึกษาของนักกีฬา พ.ศ.2547 ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดการเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ.2548 และกองทุนสวัสดิการนักกีฬา ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนสวัสดิการนักกีฬาว่าด้วยการบริหารการใช้จ่ายเงินกองทุน พ.ศ.2545 ไปเป็นของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้

            จึงมีผลให้มีการรวมกองทุนในการกีฬาแห่งประเทศไทยทั้ง 3 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนการศึกษาของนักกีฬา กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และกองทุนสวัสดิการนักกีฬา ให้รวมเป็น “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” เพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพ

            ดังนั้น กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงได้จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ภายใต้การกำกับดูแลของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติทุนหมุนเวียน ประกอบกับระเบียบ กฎหมายที่คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ กำหนดขึ้น

            ต่อมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) ได้รายงานผลการตรวจสอบงบการเงินของทุนหมุนเวียน ที่ตรวจสอบพบว่ามีความซ้ำซ้อน ไม่ประหยัดคุ้มค่าและเหมาะสม ในการดำเนินการจำนวน 13 กองทุน จึงเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาทบทวนสถานะหมุนเวียนดังกล่าว โดยให้ยุบรวม 2 กองทุน และยุบรวมหรือยกเลิก 11 กองทุน โดยสำหรับการยุบรวมหรือยกเลิก กระทรวงการคลังได้พิจารณาแนวทางในการปฏิรูปทุนหมุนเวียนโดยการควบรวมหรือยุบเลิกกองทุน

            ซึ่งได้พิจารณาจากวัตถุประสงค์และการดำเนินการ ตามภารกิจของทุนหมุนเวียนต่าง ๆ ประกอบกับนายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้พิจารณาข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เกี่ยวกับการทบทวนสถานะทุนหมุนเวียนต่าง ๆ ด้วยแล้ว จึงเห็นสมควรควบรวม กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ และกองทุนกีฬามวย เป็นทุนหมุนเวียนที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการส่งเสริม การสนับสนุน การพัฒนา และการอื่นใดเกี่ยวกับการกีฬา ในชั้นนี้เพื่อบูรณาการงานด้านกีฬาให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ และลดภาระด้านงบประมาณ จึงให้ควบรวมกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพและกองทุนกีฬามวย เป็นส่วนหนึ่งของ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 63/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2558 ให้ควบรวมกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพและกองทุนกีฬามวยเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา คุ้มครอง ช่วยเหลือ และสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา

            นี่คือที่มาโดยภาพรวมของกองทุนพัฒนาการกีฬา ที่น่าศึกษาไว้ครับ

#กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

RANDOM

รัฐบาลไทย เปิดทำเนียบเลี้ยงฉลองชัยความสำเร็จทัพนักกีฬาไทยชุดเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 และเอเชี่ยนพาราเกมส์ ครั้งที่ 4 พร้อมมอบเงินรางวัลอัดฉีดจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) รวมทั้งสิ้น 353,925,000 บาท

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) รับสมัครพนักงาน 3 อัตรา ‘เจ้าหน้าที่ฝ่าย สควค. – นักวิชาการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ – เจ้าหน้าที่ฝ่าย พสวท.’ สมัครได้ถึง 30 พ.ย. นี้

NEWS

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!