ตอนที่ 29 : จุดกำเนิดและขีดจำกัด ความก้าวหน้าของการกีฬา : หนังสืออุดมการณ์โอลิมปิกของคูเบอร์แต็ง : แปลโดย : ดร.นิพัทธ์ อึ้งปกรณ์แก้ว

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

จุดกำเนิดและขีดจำกัดความก้าวหน้าของการกีฬา

            เดือนมิถุนายน ค..1936 ก่อนโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงเบอร์ลินนั้น บทความทั้งสี่ตอนนี้ได้ปรากฎในหนังสือพิมพ์เบอร์ลิน (BZ am Mittag) อีกสองปีต่อมาภายหลังการจากไปของคูเบอร์แต็ง ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสได้รับการตีพิมพ์ในวารสารโอลิมปิกรีวิว ซึ่งบทความนี้เป็นเสมือนมรดกการกีฬาที่คูเบอร์แต็งได้สรุปเน้นย้ำความเห็นหลายประการด้านการกีฬาสมัยใหม่ของตนเอง คูเบอร์แต็งแยกแยะการพัฒนาระหว่างร่างกายมนุษย์ คุณลักษณะเชาวน์ปัญญาและมิติจิตวิทยา และเงื่อนไขการเล่นกีฬาแต่ละชนิด โดยเปรียบเทียบความเพียรพยายามเหล่านี้กับแนวคิดอรรถประโยชน์ยิมนาสติก (Utilitarian Gymnastics) ที่ตนเองได้นำเสนอเป็นครั้งแรกใน ค..1902 ประเด็นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมีความสำคัญไม่แพ้กัน ในตอนที่สามของบทความนี้ คูเบอร์แต็งพิจารณาอิทธิพลของผู้ชมกีฬาซึ่งเป็นส่วนทำให้จิตวิทยาการกีฬามีบทบาท และในตอนที่สี่ ท่านตอบคำถามว่าจะมีขีดจำกัดของการพัฒนาศักยภาพนักกีฬาหรือไม่ ในเรื่องนี้ ท่านเล็งเห็นความแตกต่างระหว่างการพัฒนาส่วนบุคคล และส่วนรวมซึ่งนำไปสู่ข้อสงสัยว่า ส่วนบุคคลหรือสายพันธุ์มีบทบาทสำคัญมากกว่ากัน ดังที่ปรากฎในโบราณกาล การกีฬาจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเจริญก้าวหน้าใน ค..1936

ตอนที่หนึ่ง

            ความก้าวหน้าของการกีฬาในวัยรุ่นและหนุ่มสาวอาจมาจากสามแหล่งที่มา ที่แรกคือกล้ามเนื้อของร่างกายที่สามารถถูกพัฒนาขึ้นได้ แท้จริงแล้ว ร่างกายสามารถพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญให้แข็งแกร่ง ยืดหยุ่น ทรหดขึ้น มีทักษะรวมทั้งดุลยภาพสูงขึ้นได้ ผลลัพธ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านความเพียรพยายามในการออกกำลังกายและการฝึกซ้อมที่ถูกต้องอย่างดี โดยเฉพาะภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จนี้

            อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะเชาวน์ปัญญามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาร่างกายมนุษย์เพื่อเป้าประสงค์ความสำเร็จทางการกีฬาเช่นกัน ต้องไม่ลืมว่า รอบปีโอลิมปิกสมัยใหม่เกิดขึ้นจากการวิ่งมาราธอนที่สำเร็จของคนยากไร้ แม้ว่าเขาจะมีความแข็งแกร่งโดยธรรมชาติ แต่ก็ไม่มีการเตรียมพร้อมด้านวิทยาศาสตร์แต่ประการใด   ยิ่งกว่านั้น เขากลับเตรียมตัวด้วยการอดอาหารและสวดมนต์ต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าที่ตนเองนับถือ ข้าพเจ้าขอกล่าวเสริมว่า นับจากนั้นในทุกโอลิมปิกเกมส์ ข้าพเจ้าพบอยู่เสมอถึงความหนักแน่นของเจตจำนงและความสงบนิ่งที่ “ก่อให้เกิด” สัมฤทธิ์ผลในบางลักษณะ โดยบางครั้ง นักกีฬาที่มีร่างกายเป็นเลิศกลับปราชัยแก่ผู้ที่อาจด้อยกว่าในด้านนั้นแต่สามารถใช้กำลังและพลังเจตจำนงที่เหนือกว่านำไปสู่ความสำเร็จของตนเองได้

            สิ่งนี้คือแหล่งพลังที่สองกล่าวคือด้านจิตวิทยาของพัฒนาการซึ่งมนุษย์สามารถฝึกหัดเจตจำนงและความเพียรพยายามได้เช่นเดียวกับสมรรถภาพกล้ามเนื้อของตนเอง ท้ายสุดแล้วยังมีแหล่งพลังที่สาม โดยสองแหล่งแรกมุ่งเน้นภายในตัวบุคคลในขณะที่แหล่งสุดท้ายจะอยู่ภายนอกซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาอุปกรณ์กีฬาหรือภายใต้เงื่อนไขการเล่นกีฬาแต่ละชนิด โดยอาจหมายถึงอุปกรณ์ใหม่หรือเพียงการปรับปรุงเนื่องจากการค้นพบหรือการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ให้ดีขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ลองพิจารณานักพายเรือรุ่นใหม่ ตัวเรือของเขาไม่เพียงมีน้ำหนักเบาลงอย่างน่าตกใจ แต่ยังรวมถึงการเคลื่อนย้ายที่นั่ง ตำแหน่งลูกกลิ้ง และการยืดความยาวไม้พายให้ไกลจากจุดหมุนจะช่วยด้านกลศาสตร์เป็นอย่างมาก ให้ลองเทียบตัวเขากับนักพายเรือในอดีตที่ต้องถือไม้พายที่หนักและสั้นเกินไป แน่นอนว่า ยังคงไม่มีการออกกำลังกายชนิดใดที่ได้รับการปฏิรูปอย่างสมบูรณ์จากสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ แต่กีฬาเรือพายก็จัดได้ว่า เป็นการออกกำลังกายรอบด้านที่สมบูรณ์สุดในปัจจุบัน

            พวกเราสามารถกล่าวอะไรได้บ้างเกี่ยวกับจักรยานซึ่งเป็นผลจากแนวคิดล้ำเลิศของกลศาสตร์ประยุกต์ด้วยการใช้ล้อฟันเฟืองและโซ่ขับเคลื่อนที่เชื่อมต่อล้อไปยังคันถีบ? สำหรับกีฬาฟันดาบ อุปกรณ์ที่หนักและอุ้ยอ้ายเมื่อห้าสิบปีก่อนได้ถูกทดแทนด้วยเครื่องแต่งกายและหน้ากากที่มีน้ำหนักน้อยลงพร้อมด้วยอาวุธที่คล่องตัว ไม่เพียงรูปแบบเกมส์กีฬาฟันดาบที่เรียบง่ายขึ้น แต่กลวิธีของเขาก็ก้าวล้ำไปมากยิ่งกว่ากีฬาชกมวย ซึ่งได้ปรับปรุงการออกแบบนวมชกมวยให้ดีขึ้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดูเหมือนว่า พัฒนาการกล้ามเนื้อจะสัมพันธ์โดยตรงต่อการปรับปรุงอุปกรณ์และการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหว รวมทั้งเจตคติของบุคคลซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นด้วย แม้คุณประโยชน์ที่นักวิ่งหรือนักยิมนาสติกได้รับจากลู่วิ่งเถ้าถ่านหินหรืออุปกรณ์ยิมนาสติกชิ้นใหม่อาจเป็นที่ประจักษ์น้อยกว่าแต่ก็อยู่ในระดับเดียวกัน ในทางตรงข้าม สถานการณ์ของนักปีนเขาและนักขว้างจักรหรือพุ่งแหลนยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับนักกีฬาในอดีต

ตอนที่สอง

            นับเป็นเวลานานแล้วที่ปรากฎว่า การฝึกซ้อมเฉพาะอย่างจะประกันถึงการพัฒนากีฬาที่ไร้ขีดจำกัด ผู้คนต่างคาดหวังผลเลิศจากสิ่งนี้ซึ่งมีความสำคัญเป็นรองก็เพียงแต่การฝึกซ้อมทั่วไปเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านจะฝึกหัดเฉพาะการเคลื่อนไหวที่พิจารณาว่าจำเป็นสำหรับชนิดกีฬาที่ตนหวังจะเป็นเลิศ โดยเขามีความเห็นว่า ไม่เพียงการเคลื่อนไหวหรือชุดการเคลื่อนไหวที่ปรากฎเป็นส่วนหนึ่งของหลักยิมนาสติกหรืออีกชนิดกีฬาหนึ่งจะไร้ประโยชน์แต่เป็นโทษด้วย เป็นที่ชัดแจ้งว่า เราไม่สามารถคาดหวังความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ในชนิดกีฬาหนึ่งโดยปราศจากการเข้าร่วมฝึกซ้อมเฉพาะอย่าง แต่ทฤษฎีต่างๆนานาที่กล่าวอ้างความไม่ลงรอยระหว่างกีฬาต่างชนิดกันกำลังถูกหักล้าง แม้ฟุตบอลจะไม่ได้ฝึกหัดบุคคลสำหรับการขี่ม้า แต่คงไม่เป็นภัยหากจะทำในสิ่งนั้น เช่นเดียวกับการวิ่งและกระโดดที่จะไม่เกิดโทษแก่นักชกมวย ข้าพเจ้าหวนคิดถึงเมื่อสี่สิบเจ็ดปีก่อนที่ได้พบเด็กหนุ่มชาวแคนาดาได้อันดับสองในรายการขี่ม้าผาดโผนซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตนเองอยู่บนหลังม้าโดยเขาเป็นนักฟุตบอล หลังจากนั้นไม่นานที่โอลิมปิกเกมส์ครั้งที่หนึ่งในกรุงเอเธนส์ นักเรียนอเมริกาได้รับชัยในรายการขว้างจักรซึ่งเป็นชนิดกีฬาที่เขาไม่เคยฝึกหัดมาก่อนหน้า เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าเห็นคุณค่าของบูรณาการกีฬาซึ่งเป็นทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานของระบบ “อรรถประโยชน์ยิมนาสติก” ที่ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวไว้โดยเฉพาะในวารสาร Revue des Deux Mondes ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1902

            ในวันนี้ การฝึกซ้อมเฉพาะอย่างถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและได้รับการไตร่ตรองเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ใช่กรณีหรือในระดับเดียวกันสำหรับการฝึกซ้อมทั่วไปถึงแม้ว่าจะควรเป็นขั้นพื้นฐานและเบื้องต้น สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ดูเหมือนเหตุผลจะเป็นว่า สองสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างกันได้ถูกละเลยกล่าวคือ ดุลยภาพภายในและโครงสร้างกลศาสตร์ของบุคคล หากใครได้สังเกตนักกีฬาอย่างใกล้ชิดขณะเล่นจะพบในทันทีว่า สำหรับนักกีฬาแล้ว ทุกสิ่งอย่างขึ้นอยู่กับดุลยภาพภายในตั้งแต่เมื่อดุลยภาพถูกสร้างขึ้น ปรับเปลี่ยน ควบคุมและเสื่อมหายไป ซึ่งเป็นไปตามการเคลื่อนกล้ามเนื้อที่กระตุ้นโดยเจตจำนงซึ่งเรียกร้องการเคลื่อนที่เฉพาะอย่างและโครงสร้างที่กระดูกของบุคคล (แสดงให้เห็นจากภาพเอ็กซเรย์) กำหนดการตอบสนองเชิงกลศาสตร์ของร่างกาย จนถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ทั้งปวงได้ถูกละเลย นับเป็นเวลานานที่พวกเราต้องยอมรับว่า ผู้ฝึกสอนจัดทำแต่เพียงแผน “การฝึกความแข็งแกร่งและความคล่องแคล่ว” มากกว่าแนวทางเรียบง่าย โดยผู้ฝึกสอนชาวญี่ปุ่นพิจารณาภาระงานของตนแตกต่างไปจากนี้ โดยเหตุนี้ พวกเขาจึงใช้เวลาและความใส่ใจเป็นอย่างมากในการฝึกฝนนักกีฬา (โดยเฉพาะนักสู้ยิวยิตสู) เนื่องเพราะพวกเขาให้ความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาดุลยภาพร่างกาย ครูผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของพวกเขาเคยบอกข้าพเจ้าว่า เราต้องปฏิบัติงานเพื่อนำนักเรียนไปสู่จุดที่ กระทั่งในความมืดมิด แม้การสัมผัสที่เบาสุดกับคู่ต่อสู้เช่นเพียงการสัมผัสฝ่ามือ จะทำให้สามารถประเมินสภาวะดุลยภาพของคู่ต่อสู้ได้และกำหนดตำแหน่งจุดโน้มถ่วงในขณะนั้นของคู่ต่อสู้ได้ ซึ่งเสมือนเป็น “ประสาทสัมผัส” ชนิดใหม่ที่ต้องได้รับการสร้างและพัฒนาด้วยวิธีการนี้ เราสามารถคาดได้เป็นอย่างดีว่า ภารกิจนี้ต้องใช้ความพยายามที่ยาวนานและคงเส้นคงวาเป็นอย่างสูง คงจะเป็นความโชคดีที่วิธีการแบบยุโรปจะได้รับแรงบันดาลใจจากตัวอย่างของพวกเขาและสร้างพื้นที่มากขึ้นสำหรับ “ดุลยภาพ” กว่าที่พบในปัจจุบันในกรณีของการพลศึกษา โดยไม่ต้องไปไกลดังเส้นทางของชาวญี่ปุ่น

            ประเด็น “การเคลื่อนไหว” ของกล้ามเนื้อมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันซึ่งถือเป็นทวีคูณ (เคยเป็นในอดีต) ทั้งในเชิงบวกและลบ สัมฤทธิ์ผลการเคลื่อนไหวทางกีฬาขึ้นอยู่กับการกระทำที่แม่นยำและรวดเร็วของกล้ามเนื้อซึ่งมีบทบาทในการนี้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่เคลื่อนไหวของเหล่ากล้ามเนื้อที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งมักจะกลายเป็นการกีดขวางการกระทำด้วย ลองนึกภาพการเคลื่อนที่ของเรือลำหนึ่งซึ่งการกระทำต่างๆตามคำสั่งจะดำเนินขึ้นเมื่อเสียงนกหวีดดังขึ้น แต่ละคนต้องรู้ว่าสัญญาณมีความหมายใดแก่ตนเอง หากทุกคนเร่งรีดรุดไปข้างหน้าในเวลาเดียวกันเนื่องเพราะพวกเขาไม่ได้รับการฝึกสอนอย่างถูกต้องก่อนหน้า ความไม่เป็นระเบียบจะเกิดขึ้นซึ่งหมายถึงความไม่มีประสิทธิภาพอย่างแน่แท้ สิ่งเดียวกันคือเรื่องจริงสำหรับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าสังเกตตนเองและผู้อื่นถึงอากัปกิริยาอันตรายที่เกิดขึ้นจากการกีดขวางของกล้ามเนื้อเมื่อเรียนรู้กีฬาชนิดใหม่ กล้ามเนื้อบางมัดเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเคลื่อนไหวในขณะที่มัดอื่นควรต้องอยู่เฉย ซึ่งจะสร้างความสับสนและงุ่มง่ามหากเกิดการเคลื่อนที่อย่างไม่เหมาะสม การฝึกฝนกล้ามเนื้อสามารถประสบผลด้วยการทำซ้ำเท่านั้นและบ่อยครั้งที่ยังคงไม่สมบูรณ์ พวกเราจะไม่ศึกษาสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นระบบเพื่อกำหนดวิธีที่ดีสุดให้บรรลุเป้าหมายอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์กันหรือ?

            ท้ายสุดแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องโครงสร้างร่างกาย ด้วยการใช้ภาพเอ็กซเรย์ในการสังเกตร่างกายมนุษย์อย่างสมบูรณ์ พวกเราย่อมจะสามารถมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการกีฬา ข้าพเจ้าเล็งเห็นเป็นเวลานานแล้วในตัวอย่างเช่น รายการกีฬาฟันดาบและขี่ม้า ซึ่งแม้ผู้คนจะไม่กล่าวถึงความสำคัญหลักของข้อมูลชนิดสันฐานวิทยาแต่ข้อมูลชนิดโครงสร้างกระดูกจะมีส่วนสำคัญยิ่ง สิ่งที่ตามมาคือ การเข้าใจต่อข้อมูลชนิดนั้นถือเป็นความสำคัญ โดยกระบวนการเอ็กซเรย์คือสิ่งที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ความรู้ชิ้นนี้มีคุณประโยชน์แก่ทั้งผู้ฝึกสอนและตัวนักเรียนด้วย

            “รู้จักตนเอง” คำกล่าวโจษจันนี้ควรถือเป็นหลักสำคัญต่อการพัฒนาการกีฬา โดยเป็นเหตุผลที่ข้าพเจ้าเรียกร้องการบันทึกภาพพร้อมแนะนำโรงถ่ายภาพยนตร์ขนาดใหญ่ให้พัฒนากล้องขนาดเล็กเพื่อความสะดวกต่อการใช้และราคาไม่สูง กล้องเหล่านี้จะช่วยจัดเตรียมมุมมองที่ชัดเจนของนักกีฬาในขณะเคลื่อนไหวซึ่งชัดเจนขนาดที่จะทำให้นักกีฬาตระหนักถึงอาการงุ่มง่ามที่ตนกำลังกระทำอยู่จากการจ้องมองตนเองซึ่งทำให้สามารถปรับปรุงตัวเองได้ ผู้ฝึกสอนสามารถวิพากษ์ตำแหน่งท่าทางของนักเรียนจนกว่าจะหมดแรงและไม่ได้ผล แต่ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะทรงพลังสำหรับพวกเขาไปกว่าหลักฐานพยานจากภาพยนตร์ที่ปฏิเสธไม่ได้ สิ่งนี้ไม่เพียงใช้ได้กับนักขี่ม้า นักฟันดาบและนักพายเรือ แต่สามารถใช้ได้กับทุกชนิดกีฬา

ตอนที่สาม

            ขอพวกเราพิจารณาอีกลำดับขั้นของแนวคิดหรืออาจหมายถึงสิ่งกระตุ้นทางอ้อมของการพัฒนากล่าวคือ ผู้ชมกีฬา พวกเขามีบทบาทสำคัญเสมอและทรงพลังมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากจำนวนที่มากของพวกเขาและพื้นที่รวมตัวของพวกเขามีขนาดใหญ่โตมากขึ้น มีแต่ศิลปิน นักแสดงละครหรือตัวตลก นักร้องหรือนักไวโอลิน ที่จะสามารถกล่าวได้ถึงพันธะที่ผนึกร่างเขาไว้กับมวลชน โดยมีสิ่งผูกมัดรัดตรึงและแปลกที่รายล้อมรอบกายระหว่างพวกเขาซึ่งบางครั้งจะคอยส่งสัญญาณอย่างแรงที่สุดต่อระบบประสาทของนักแสดง และสามารถก่อกวนผู้ชมหรือผู้ฟังให้ยอมรับหรือปฏิเสธที่เกินเลยไปกว่าขอบเขตความสวยงามมากนัก สถานการณ์ข้างต้นปรากฎในสนามและสถานกีฬาอื่นเช่นกันเพียงแต่เราต้องฉุกคิดซึ่งจะเป็นเรื่องสามัญธรรมดา นอกจากนี้ เราต้องยอมรับว่า ปรากฏการณ์นี้สามารถเป็นที่มาของความรุดหน้าหรือการเสื่อมโทรมของศักยภาพ บ่อยครั้งที่พวกเราพบตัวอย่างในการแข่งขันฟุตบอลถึงการทำให้ผู้เล่นที่ผู้ชมตั้งความหวังไว้สูงลิ่วเกิดการเสียขวัญกำลังใจ ยามที่พวกเราเห็นการทำลายขวัญได้เข้าสู่ร่างกายผู้เล่นและแล่นไปทั่วอวัยวะส่วนต่างๆ พวกเราจะพูดว่า “เขาดูเหนื่อยหน่าย” ซึ่งอาจจะเป็นจริงอย่างยิ่ง เพียงแต่มักจะเป็นจริงที่ผู้ชมต่างหากที่รู้สึกผิดหวังและเสียใจ ท่านแน่ใจได้ว่า ความรู้สึกร่วมนี้สามารถรับรู้ได้ในทันใดจากบุคคลที่ก่อให้เกิดขึ้น แน่นอนว่า สิ่งนี้ไม่ใช่เหตุผลที่หยุดยั้งพัฒนาการกีฬาของเขา แต่สิ่งที่เป็นไปคือประสบการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นหลายคราติดต่อกันและจะบดขยี้ความก้าวหน้าให้หยุดชะงักซึ่งอาจถึงขนาดถดถอยก็เป็นได้

            โดยเหตุนี้ จึงมีหลายประเด็นความเห็นที่เราสามารถใช้ประโยชน์ต่อการประเมินจุดกำเนิดของพัฒนาการกีฬา หัวข้อนี้อาจถูกขยายให้ยืดยาวหากบทความนี้ไม่ใช่การทบทวนอย่างกระชับเพื่อนำเสนอการวิเคราะห์ทั่วไปอย่างง่ายกล่าวคือ การสำรวจอย่างรวดเร็ว

            ข้อจำกัดของการพัฒนานี้คืออะไร? จุดกำเนิดของการพัฒนาที่พวกเราตรวจสอบเหล่านี้จะเหือดแห้งหรือสิ้นสุดลงหรือไม่? ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีแต่ความเร่งรีบ รสนิยมต่อความรวดเร็วและวิถีทางตอบสนองความปรารถนาของพวกเรา “แฟชั่น” ซึ่งโดยสาระคือการประสมประสานระหว่างจิตวิญญาณการเลียนแบบและนวัตกรรมนั้น มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการกีฬา เริ่มต้นตั้งแต่กว่าสี่สิบปีที่แล้ว ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า อุดมการณ์โอลิมปิกสมัยใหม่ยิ่งใหญ่พอที่จะโอบอุ้มโลกทั้งใบ ด้วยเหตุผลที่ข้าพเจ้าเล็งเห็นอุดมการณ์โอลิมปิกที่เป็นดั่งสิ่งคำ้ประกันหรือการประกันถึงการไร้ข้อจำกัดหรือความไม่ลงรอยที่อาจเกิดขึ้นในปัจจุบันทันด่วนได้ เมื่อแนวโน้มแผ่กระแสไปทั่วโลก ก็จะเป็นการยากที่จะขจัดให้หมดไปอันที่จริง เมื่อเวลาผ่านไป แฟชั่นจะคลายความสำคัญลงต่อพัฒนาการกีฬาเนื่องเพราะการกีฬามีแนวโน้มจะกลายเป็นอุปนิสัยและความจำเป็นของปัจเจกชน

            แต่ก็ยังคงมีประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ชมกีฬา โดยเป็นที่ประจักษ์ว่า การขาดผู้ชมจะทำให้นักกีฬาขาดกำลังใจและแม้กระทั่งลดทอนความสามารถลงซึ่งเกือบจะถือเป็นกฎทั่วไป อย่างไรก็ตาม หนึ่งในประเด็นน่าวิตกวันนี้คือ บ่อยครั้งที่กว่าครึ่งหรือประมาณหนึ่งในสามของผู้ชมไม่มีความเข้าใจสักเท่าไรในรายการกีฬาที่ตนกำลังรับชมกันอยู่ และบ่อยครั้งที่ผู้ชมเหล่านี้แสดงความคลั่งไคล้และโห่ร้องอย่างดังที่สุด เมื่อไม่กี่ปีก่อน รัฐมนตรีชาวออสเตรเลียกล่าวต่อข้าพเจ้าว่า เราควรอนุญาตให้เฉพาะคนที่เล่นกีฬาเท่านั้นเข้าสนามฟุตบอล ในฐานะผู้ชมซึ่งถือเป็นคำกล่าวที่ฉลาดและน่าฟังเมื่อแรกได้ยิน แต่เป็นสิ่งไม่ยุติธรรม โดยฟุตบอลอาจได้รับคุณค่าจริยธรรมตามขั้นตอนนั้น แต่จะสูญเสียเสน่ห์และความน่าสนใจของตนเองไป นอกจากนี้ยังเป็นจริงที่ว่า แม้ผู้ชมจะสำคัญต่อพัฒนาการกีฬา แต่อีกทางหนึ่งหรือภายใต้บางสถานการณ์ พวกเขาก็เป็นอันตรายได้เช่นกัน ยิ่งกว่านั้น การกีฬาต่างชนิดได้รับความนิยมจากสาธารณชนในระดับแตกต่างกัน ทำไมมวลชนจึงรวมตัวในการแข่งขันหนึ่งในขณะที่มีผู้ชมบางตาแก่ผลงานที่สวยงามสุดบนอุปกรณ์ของทีมยิมนาสติก?

            ตามความเห็นของข้าพเจ้า คงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงความสำคัญของผู้ชมดังตัวอย่างเช่น การรักษาความนิยมในระดับสูงของการกีฬาในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ผู้ชมกีฬาเป็นองค์ประกอบเคลื่อนที่ เราจึงอาจต้องค้นหาขอบเขตพื้นที่ซึ่งองค์ประกอบนี้จะเพิ่มพูนขึ้น ทั้งนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีฝูงชนของผู้ชมหรือไม่? ไม่ใช่ ไม่จริงเลย ตัวอย่างหลายพันชิ้นแสดงให้เห็นว่า บ่อยครั้งเหลือเกินที่นักกีฬาเล่นได้ดีมากเช่นกันในวันที่ฝูงชนมีจำนวนน้อยกว่าที่คาดหมายไว้ การขาดขวัญกำลังระดับหนึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อจำนวนฝูงชนบางตาต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้น นักกีฬามีความคล้ายคลึงกับนักแสดงในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจดจำได้ถึงการแสดงอย่างน่าชื่นชมของ โคมิดี ฟรังซัวส์ ในโรงละครที่มีผู้ชมเพียงครึ่งหนึ่งในนครชิคาโก เมื่อสี่สิบสามปีก่อนซึ่งแสดงนำโดยโคควูลัง ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น อาจจะมีโรงภาพยนตร์อังกฤษอยู่ในเมืองและเป็นที่ชื่นชอบมากกว่าจากสาธารณชน ภายหลังการแสดง ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับโคควูลังเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้โดยเขาบอกว่า “พวกเราแสดงอย่างเต็มที่ราวกับโรงละครคราคร่ำไปด้วยผู้ชม ใช่ไหม? เนื่องเพราะพวกเราแสดงให้ตนเอง ศิลปินแท้จริงจะละทิ้งมวลชนหากจะต้องทำ สิ่งที่เขาไม่สามารถทนได้โดยปราศจากความขมขื่นคือ การรู้สึกว่าตนเองยังไม่สมบูรณ์” แม้จะดูราวขัดแย้งในตนเอง แต่ก็เป็นเรื่องจริงไม่น้อย เราคงสามารถกล่าวได้กับนักกีฬาเป็นเลิศเช่นกัน โดยเขามักรู้สึกเจ็บปวดเมื่อตนเองรู้สึกถึงการไม่ถูกยอมรับ แต่จะขื่นขมมากขึ้นหากยึดถือว่าตนเองต่ำต้อย

            เกี่ยวกับเรื่องผู้ชมกีฬานี้ ยังไม่ปรากฎว่า จำนวนที่เพิ่มหรือลดลงเล็กน้อยจะส่งผลกระทบมากต่อนักกีฬา อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อศักยภาพของผู้ชมเพิ่มพูนและแพร่หลายยิ่งขึ้น นักกีฬาจะชื่นชอบศักยภาพนั้นมากกว่าการชื่นชมต่อจำนวนมหาศาลของผู้ชม

ตอนที่สี่

            การปรับปรุงอุปกรณ์มีอะไรบ้าง? มีข้อจำกัดในเรื่องนี้หรือไม่? ตามหลักทฤษฎีแล้ว ไม่มี เพียงแต่พวกเราต้องทราบถึงขีดจำกัดของอุปกรณ์ที่อาจมีนัยยะในการทดแทนมนุษย์ต่อการลดทอนความเพียรพยายามซึ่งอาจล่วงล้ำเส้นหน้าสุดของการกีฬา ขอให้พวกเราพิจารณาสักหนึ่งตัวอย่าง นักวิ่งโบราณวิ่งบนทรายเพื่อยกระดับความยากพร้อมเพิ่มพูนความสามารถตนเอง นักวิ่งสมัยใหม่กลับถูกขับเคลื่อนในทิศทางตรงข้ามกัน พวกเขาต้องการทำให้การแข่งขันง่ายขึ้นเพื่อเพิ่มความเร็วของตนเอง ดังนั้น ลู่วิ่งกรวดถ่านหินและรองเท้าติดปุ่มจึงถูกประดิษฐ์ขึ้น แต่สมมติให้พวกเราจินตนาการถึงรองเท้า หรือแม้จะเป็นลู่วิ่งติดขดลวดสปริงที่อาจช่วยเหวี่ยงนักวิ่งให้กระโจนขึ้นหน้าในแต่ละก้าว ในกรณีนี้ ไม่ใช่แต่เพียงการเคลื่อนไหวที่ทำให้ง่ายขึ้น แต่ความเพียรพยายามบางอย่างของนักกีฬาจะถูกทดแทนด้วยอุปกรณ์ที่นักกีฬากำลังใช้อยู่ ความเร็วที่ได้รับจากวิธีการนี้จะไม่ใช่จากตัวเขาเองทั้งหมด

            แน่นอนว่า สิ่งประดิษฐ์ล้ำเลิศอาจปรากฎขึ้นอย่างที่พวกเราไม่สามารถคาดหมายได้ แต่การพัฒนาเหล่านี้คงจะไม่สามารถเพิ่มขีดพัฒนาการกีฬาอย่างยิ่งยวด โดยหากเป็นจริง ขีดจำกัดที่พวกเรากำลังพยายามให้นิยามในที่นี้จะบรรลุได้ก็แต่โดยการปรับปรุงร่างกายมนุษย์เท่านั้น ซึ่งเป็นที่ชัดแจ้งถึงขีดจำกัดในเรื่องการปรับปรุงเหล่านี้และจะไม่สามารถขยายขอบเขตได้กว้างไกลนักแม้พวกเขาจะสามารถมีสัดส่วนสำคัญก็ตามที

            การพัฒนาส่วนบุคคลหรือการพัฒนาส่วนรวม?

            ประเด็นหลักจะหมายถึงปัจเจกชนหรือเผ่าพันธุ์มนุษย์?

            สิ่งนี้คือคำถามในปัจจุบันที่เกิดขึ้นจากสถาบันการเมืองซึ่งข้าพเจ้าคาดคิดว่า เป็นประเด็นที่นัยสำคัญไม่ได้รับการชื่นชมอย่างเต็มที่จากผู้คนจำนวนมาก ข้าพเจ้าขอกล่าวบางประการเพื่อสรุปในเรื่องดังกล่าวนี้

            หากมีบางท่านสอบถามข้าพเจ้าถึงสิ่งที่พวกเราจำเป็นต้องทำในวันนี้เพื่อสร้างสายพันธุ์การกีฬาเชาวน์ปัญญา ข้าพเจ้าขอตอบว่า ลดเรื่องระบบประสาทให้น้อยลงและเพิ่มการเตรียมด้านจิตใจในบรรยากาศที่ได้สัดส่วนระหว่างความสงบนิ่งและเหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าหมายถึงเมื่อตนเองพยายามที่จะให้นิยามแก่อุดมการณ์โอลิมปิกสมัยใหม่เมื่อก่อกำเนิดสิ่งนี้ ข้าพเจ้าถูกเข้าใจผิดเป็นระยะเวลายาวนาน แต่สุดท้ายผู้คนก็เริ่มเข้าใจ อาจช้าแต่ดีกว่าไม่มา นักวารสารศาสตร์หลายพันคน และแม้กระทั่งผู้ฝึกสอนกีฬาต่างใช้พรสวรรค์ของตนเองในเรื่องนี้ นักวารสารศาสตร์ลงมือโดยปราศจากการสะท้อนคิดที่เพียงพอต่อเรื่องนี้ใน ขณะที่ผู้ฝึกสอนปฏิบัติโดยปราศจากข้อมูลการทดลองการกีฬาที่จำเป็นต่อการให้เหตุผลของตนเอง จึงทำให้ความก้าวหน้าเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า

            แนวคิดของการกระตุ้นเร้าระบบประสาทตามคำสั่งของเจตจำนงที่มีประสิทธิผลต่อความสำเร็จทางกีฬากำลังได้รับความนิยมแพร่หลาย เราพูดบ่อยครั้งถึงนักกีฬาที่มีชัยซึ่ง “ค้ำจุนด้วยระบบประสาท” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่เหมาะสมและพบน้อยมากในความเป็นจริง นักกีฬาผู้มีชัยบรรลุเป้าหมายตนเองด้วยร่างกายที่สั่งการโดยเจตจำนงตนเอง ในการนี้ ระบบประสาทเปรียบเสมือนผู้ใต้บังคังบัญชาหรือบ่าวไพร่ อย่างไรก็ตาม บ่าวไพร่นี้มีแนวโน้มจริงจังที่จะตั้งตนเป็นเจ้านายและใช้อำนาจทรราชเหนือมนุษย์โดยเฉพาะมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว ระบบประสาทมีวิธีการที่จะลุกขึ้นเดินบนท้องถนนและตะโกนว่า “ที่นี่ ข้าคืออัจฉริยะ!” ด้วยการหยดน้ำเอ่ยอ้างหลอกลวงซ้ำไปซ้ำมา สิ่งนี้จึงเริ่มหยั่งรากลึกลงในจิตใจของผู้คนทั่วไป ข้าพเจ้าขอย้ำว่า ระบบประสาทนี้เป็นเพียงแต่บ่าวไพร่ คือเศษเสี้ยวของธรรมชาติ แต่จะทรงคุณประโยชน์หากถูกทำให้เชื่องตั้งแต่วัยเยาว์ที่สุดและได้รับการฝึกฝนให้เชื่อฟังตลอดเวลา

            สิ่งนี้เป็นจริงสำหรับการกีฬาและกิจกรรมอื่นทั้งปวง

            ยังคงมีอาการใต้จิตสำนึกหลายประการของความเชื่อคร่ำครึต่อพื้นฐานความไม่ลงรอยระหว่างการฝึกหัดกล้ามเนื้อและการขัดเกลาจิตใจซึ่งถือเป็นความคลุ้มคลั่ง โดยทัศนคตินี้อาจอธิบายในเชิงประวัติศาสตร์ แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรยินยอมให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ถึงเวลาแล้วที่จะต้องขจัดความเชื่อนี้ให้สิ้นลง คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือใช้โปรแกรมกีฬาทราบดีว่า เชาวน์ปัญญาเป็นตัวกำหนดเนื้อหาสาระของโปรแกรมเหล่านี้ ข้าพเจ้าอาจกล่าวไปไกลว่า เชาวน์ปัญญากำหนดสิ่งเหล่านั้นยิ่งกว่ากิจกรรมอื่น สำหรับข้าพเจ้าแล้ว เชาวน์ปัญญาหมายถึงความเข้าใจซึ่งไม่ใช่ความรู้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ความรู้ของและด้วยตัวเองแม้การใช้ความรู้จะเป็นส่วนหนึ่งของเชาวน์ปัญญา ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า ความรู้ตามที่เกิดความเชี่ยวชาญในยุคพวกเราจะพัฒนามนุษย์อย่างยิ่งยวด ดังพบเห็นทั่วไป กิริยาท่าทางที่มนุษย์ได้รับการศึกษายังไม่ดีพอและเพียงแค่ใช้การได้ อารยธรรมประกอบด้วยมวลคลื่นความมั่งคั่งในทางหนึ่งและความคิดอีกทางหนึ่ง เราคงไม่สามารถกล่าวว่า ความมั่งคั่งได้รับการจัดสรรอย่างฉลาดหรือสมเหตุสมผล พวกเราไม่มีแม้กระทั่งการประเมินความร่ำรวยที่ถูกต้องของตนเองด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตาม ความคิดก็ไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีไปกว่านี้ วัฒนธรรมเรียนรู้ยังคงสงวนไว้กับบุคคลจำนวนน้อยมาก ซึ่งจะต้องได้รับการแจกจ่าย เผยแพร่และเป็นที่นิยม บรรยากาศการเรียนรู้อย่างกว้างขวางคือสิ่งที่ต้องการสำหรับนักกีฬาที่จะเบ่งบานอย่างเหมาะสม ในอดีต พอล บูเก็ต ผู้ล้ำสมัยชาวฝรั่งเศสและเพื่อนข้าพเจ้า ได้กล่าวว่า “หากเพียงแต่ท่านจะทราบถึงการแต่งงานระหว่างการออกกำลังกายที่แข็งขันกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ว่าช่างออกดอกออกผลงดงามเพียงใดจากเสน่ห์เย้ายวนทางเพศ!” หากเป็นไปได้ โลกเพียงเริ่มต้นที่จะรับรู้ในสิ่งนี้ แต่กระนั้นก็ตามที อนาคตอยู่ที่นี่

            ข้าพเจ้าเพิ่งกล่าวว่า เพื่อให้สายพันธุ์การกีฬาเชาวน์ปัญญาเจริญงอกงาม บรรยากาศที่ได้สัดส่วนระหว่างความสงบนิ่งและเหมาะสมจะต้องได้รับการจัดเตรียม ความสงบทางสังคมไม่ได้หมายถึงความสุขสงบของชนชั้นกระฎุมพีแต่หมายถึงกฎระเบียบ กฎระเบียบสามารถควบคุมอย่างกว้างขวางภายใต้ระบบการเมืองที่แตกต่างกันแต่กฎระเบียบจะควบคุมสถาบันได้ก็ต่อเมื่อควบคุมจิตใจของบุคคลเป็นอย่างแรกก่อน สิ่งนี้คือเหตุผลว่า เหนือสิ่งอื่นใด  การศึกษาคือเนื้อแท้ของความเจริญก้าวหน้าสมัยใหม่

            ความได้สัดส่วนคือพี่น้องของกฎระเบียบ ทั้งสองเป็นญาติกันและตั้งใจจะเติบใหญ่ไปพร้อมกัน ข้าพเจ้าใช้คำว่า “สัดส่วน” แต่ก็ไม่ใช่คำที่ข้าพเจ้าต้องการ คำที่ผุดขึ้นในใจคือ “จังหวะงดงามไร้ที่ติ” (eurythmia) อย่างไรก็ตาม ชาวฝรั่งเศสและชาวเยอรมันไม่มีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้ ชาวเยอรมันเชื่อว่า แนวคิดของจังหวะเป็นส่วนหลักของคำกรีกนี้ แต่ชาวฝรั่งเศสมุ่งความสนใจมากกว่าที่พยัญชนะแรกซึ่งกระตุ้นความคิดเกี่ยวกับความสวยงาม ความสมบูรณ์ ทุกสิ่งอย่างที่มีสัดส่วนที่เหมาะสมคือจังหวะงดงามไร้ที่ติ เหนือสิ่งอื่นใด ชาวกรีกโบราณคือผู้เรียกร้องมาตรวัดและความได้สัดส่วนซึ่งประสมประสานความสวย ความสง่างามและความแข็งแรง พวกเราต้องกลับไปสู่แนวคิดกรีกเหล่านี้เพื่อชดเชยความน่าเกลียดเลวร้ายของยุคอุตสาหกรรมที่พวกเราต่างดำรงชีวิตอยู่

            อารยธรรมกรีกอีกแล้ว! พวกเราเคยเชื่อว่า อารยธรรมกรีกคือสิ่งในอดีต ความเชื่อที่หมดยุค และเป็นไปไม่ได้ที่จะรื้อฟื้นรวมทั้งไม่สามารถประยุกต์ใช้ในเงื่อนไขปัจจุบันได้ ซึ่งผิดถนัด อารยธรรมกรีกคือองค์ประกอบของอนาคต ปรัชญาชีวิตของอารยธรรมกรีกมีความเหมาะสมและสามารถปรับใช้กับความเป็นอยู่สมัยใหม่ โดยเหตุนี้ การกีฬาจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเจริญก้าวหน้าในยุคปัจจุบัน

RANDOM

“รองชุม” เชิญทุกสมาคมกีฬาที่เตรียมลุยซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชาและ เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 19 ที่จีน พร้อม อลป.ไทย ร่วมหารือและซักซ้อม 6 ม.ค.นี้ เพื่อป้องกันปัญหา “เงินสะดุด”

NEWS

error: Content is protected !!