ขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดซีเกมส์ครั้งแรกที่ลาว และผ่านมา 14 ปี กัมพูชานำมาใช้เป็นครั้งที่ 2 ก็เรื่องของเจ้าภาพเขา..ส่วนไทยเราในฐานะผู้เข้าร่วมจะเกี่ยวตรงไหน อย่างไร จะจ่ายไม่จ่ายอยู่ที่เราใช่หรือไม่ !

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

  โดยขั้นตอนของเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา ในระดับต่าง ๆ นั้น มันจะมีกลุ่มคนหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องอยู่ 4 กลุ่มก็คือ

1.เจ้าของงานกีฬา 2.เจ้าภาพจัดกีฬา 3.หน่วยงานหรือกลุ่มที่เจ้าภาพจัดกีฬามอบหมาย และ4.คนที่จะซื้อ

  ในระดับซีเกมส์หากไล่ตามกลุ่มที่เกี่ยวข้องนี้ก็คือ 1.สหพันธ์ซีเกมส์ 2.ประเทศสมาชิกที่จัดซีเกมส์ 3.กลุ่มหรือบริษัทที่ประเทศที่จะจัดมอบหมายให้ดำเนินการเรื่องลิขสิทธิ์ และ 4. คือชาติสมาชิกที่จะถูกเสนอขายลิขสิทธิ์ให้…และหากมีรายได้เกิดขึ้นผู้ที่มีส่วนได้ก็คือ 3 กลุ่มแรก ตามที่จะตกลงการแบ่งกัน

  หากว่ากันแล้ว ในระดับกีฬาซีเกมส์ “การขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดซีเกมส์ในซีเกมส์ที่กัมพูชาไม่ใช่ครั้งแรก”

  เพราะครั้งแรกที่มีการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันซีเกมส์ เกิดขึ้นในซีเกมส์ครั้งที่ 25 ที่ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพ ในปี พ.ศ.2552 โดย บริษัท เพชรจำปาฯ จำกัด ได้รับมอบหมายจากเจ้าภาพให้เป็นตัวแทนในการขายลิขสิทธิ์ ให้กับชาติสมาชิก ซึ่งเน้นการขายเพื่อให้ออกอากาศทางช่องฟรีทีวี และทีวีดาวเทียม โดยในประเทศไทยนั้น บมจ.อาร์เอส (RS) ได้รับสิทธิ์การจัดการทั้งหมด ซึ่งไม่ปรากฏว่าลงทุนกับการซื้อสิทธิ์นี้เท่าไหร่ แต่ตามรายงานข่าวช่วงนั้น ระบุว่า RS มีรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจัดการหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนการถ่ายทอดสดในไทย จะประมาณ 30-40 ล้านบาท

  เหตุผลจากการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดของ สปป.ลาว ที่ถือเป็นทางการเต็มรูปแบบครั้งแรกนี้ ช่วงต้นมีการกล่าวอ้างว่าส่วนแบ่งรายได้ จะกลับไปเป็นของเจ้าภาพ และต้นทางคือสหพันธ์ซีเกมส์ (ที่หมายถึงเป็นรายได้ของกลุ่มสมาชิกทั้ง 11 ชาติ)

  “แต่ไม่มีข่าวปรากฏตามมาว่า ได้มีการส่งส่วนแบ่งของสิทธิประโยชน์ ถึงสหพันธ์ซีเกมส์เมื่อไหร่ หรือเท่าไหร่”….แต่จะแบ่งหรือไม่อย่างไร เราๆ ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไร จึงไม่มีใครถามถึง

  มาถึงเรื่องที่ว่า…ทำไมถึงบอกว่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมีการขายอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบในซีเกมส์ครั้งที่ 25 และในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา นี้จะเป็นครั้งที่ 2

  คำตอบก็คือ เพราะที่ผ่านมา ก่อนจะถึงการขายลิขสิทธิ์ที่เป็นทางการครั้งแรกที่ สปป.ลาวนั้น ปกติเจ้าภาพจะทำหน้าที่เป็น Host Broadcaster และจัดตั้งศูนย์ผลิตสัญญาณ จากการแข่งขันเพื่อแจกจ่ายและให้บริการต่อชาติสมาชิก โดยเก็บค่าใช้จ่ายทางด้านเทคนิคและการบริการในอัตราตามความต้องการของสมาชิก ที่ส่งตัวแทนไปคุยเจรจา ตกลงกัน จะไม่มีการเก็บค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันที่เป็นทางการเต็มรูปแบบแต่อย่างใด เพราะมองว่าซีเกมส์ คือเกมที่กระชับความสัมพันธ์ เปิดทางให้มีส่วนร่วมมากที่สุด ไม่ได้มีการแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจ ตามแนวทางสหพันธ์ซีเกมส์ระบุไว้

  มาดูผลที่เกิดขึ้นจากการประกาศดำเนินของ สปป.ลาว ในการจัดการเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดครั้งแรกว่ามีความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง….

  “ตัวแทนทีวีพูล” ช่วงนั้น ได้พูดถึงในฐานะที่เคยรับสิทธิการถ่ายทอดสดซีเกมส์มาตลอดแต่ไม่ใช่ครั้งนั้น ระบุว่า “การทำเช่นนี้ เป็นการทำลายประเพณีการถ่ายทอดที่มีมาตั้งแต่ต้นทำให้การแข่งซีเกมส์กลายเป็นรูปแบบระบบธุรกิจอย่างเต็มตัว…และทีวีพูลไม่เห็นด้วยต่อเรื่องนี้”

  และนอกนั้น ในกลุ่มคีย์แมนของคณะกรรมการโอลิมปิคของไทยเอง ก็คัดค้านอย่างมาก เพราะไม่เคยมีประเพณีปฏิบัตินี้มาก่อน

  แต่สุดก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิของเจ้าภาพ ที่กระทำตามขั้นตอนต่าง ๆ แล้ว

  จนกระทั่งทุกอย่างผ่านไป จากการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 25 ที่ เวียงจันทน์ สปป.ลาว ปี พ.ศ.2552 จากนั้นมาระบบธุรกิจสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันซีเกมส์ ก็หายไป และกลับมาใช้ระบบเดิมคือ เจ้าภาพจัดทำแจก ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว

  และเมื่อเวลาผ่านไป 14 ปี ในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา ที่จะเริ่มในเดือน พ.ค.2566 นี้ ระบบสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกลับมาอีกครั้ง

  ที่ในมุมของการดำเนินการนั้น ตามขั้นตอนต่าง ๆ (ดังที่กล่าวข้างต้น) “ไม่มีอะไรที่จะต้องตำหนิใครๆ” ในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะถือเป็นเรื่องของเขาตามขั้นตอน 1-2-3 และไทยเราอยู่ในขั้นตอนที่ 4 คือ ผู้ถูกขายหรือผู้ซื้อเท่านั้น

  “จะซื้อหรือไม่ซื้อ และหรือจะจ่ายเท่าไหร่ ก็แล้วแต่ทางเราจะคุย ที่หากเราพอใจจากข้อตกลงและเงื่อนไขก็จ่าย ไม่พอใจก็จบ”

  ฉะนั้นการเฝ้าดูก็ดูไป เพราะมันไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นจึงไม่ต้องซีเรียสหรือคิดดราม่าอะไร กับการซื้อขายหนนี้ขอรับ.

RANDOM

สอศ. จับมือ ศูนย์การศึกษาเกาหลี ประจำประเทศไทย (KEC ) และ ศูนย์ระบบอนุญาตการจ้างงาน (EPS) กระทรวงการจ้างงานและแรงงาน เปิดสอนภาษาเกาหลีในสถานศึกษา เพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานแบบถูกกฎหมาย

Biowood Thailand เชิญชวนนิสิต นักศึกษา และ สถาปนิก ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดใน “โครงการประกวดออกแบบบ้านอยู่อาศัยแห่งอนาคต 2030” ชิงรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท พร้อมโอกาสดูงานในต่างประเทศ สมัครและส่งผลงานได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 15 ม.ค. 68

อว. ร่วมกับ สวทช. และ สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ จัดโครงการมอบรางวัล Prime Minister’s Science Award 2025 เพื่อเชิญชูเกียรติโครงงานวิทยาศาสตร์ของเยาวชน และครูวิทยาศาสตร์ เพื่อรับรางวัลตัวอย่างที่ดีด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขยายเวลาส่งผลงานถึง 20 มิถุนายน นี้

NEWS

มูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย เชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ร่วมประกวดคลิปวิดีโอ ในหัวข้อ “เปลี่ยนทะเลให้เป็น Best Version…ในแบบฉบับของตัวเอง” ในกิจกรรม SEA YOU NEXT GEN Young รักษ์ทะเล ใน Best Version ที่เป็นคุณ ชิงทุนการศึกษา 140,000 บาท ส่งผลงานได้ถึง 31 ก.ค.นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!