คิดต่อเนื่องจาก คำสัมภาษณ์ ของ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ที่ให้สัมภาษณ์ย้ำ เรื่องกรณีความขัดแย้งกับกัมพูชา ที่จะต้องจัดการกับกัมพูชา ในเรื่องเกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 9-20 ธันวาคม 2568 นี้
เนื้อหา โดยสรุปคือ
1.จะแจ้งผ่านสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ ที่ดูแลกีฬาซีเกมส์ เพื่อให้ประเทศสมาชิกซีเกมส์ทั้ง 11 ประเทศ ร่วมกันบอยคอต ในการที่ไม่ให้ประเทศกัมพูชาเข้าร่วมในการแข่งขันซีเกมส์ในครั้งนี้
2.จะทำทุกวิถีทางไม่ให้มีประเทศกัมพูชาเข้ามาแข่งขันกีฬา ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ หนนี้
#แนวคิดดีทำได้แต่เขาจะสนใจเสียใจหรือกังวลใดๆไหม
“สถานีความคิด” The Station THAI ขอร่วมคิดกับเรื่องราวนี้ โดยขอเริ่มจากพฤติกรรมของกัมพูชากับไทย เอาเฉพาเรื่องกีฬา เพื่อตอบคำถามว่า “เขาจะสนไหม” หากเราฟ้องสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ หรือไม่ยอมให้เขามาแข่ง เพราะในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้นำกี่ยุคสมัย แต่ความคิดรากฐานนั้น กลายเป็นสิ่งที่ทำให้สรุปได้ว่า “ไม่เคยเปลี่ยน”
เริ่มจาก กีฬาเซียพเกมส์ หรือ กีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 1 (2502) ที่กัมพูชาซึ่งร่วมก่อตั้งกีฬาเซียพเกมส์ร่วมกันกับหลายชาติในอาเซียน ต้นปี 2502 ก่อนจัดก็มาร่วมประชุมเพื่อวางงาน วางกติการ่วมกันกับหลายชาติอาเซียน แต่พอถึงเวลาไทยจัด และเริ่มมีปัญหาชายแดนกับไทย ก็เพิกเฉยไม่ส่งแข่ง เพราะมองว่าไทยเป็นชาติที่ขัดแย้ง
ขณะที่เซียพเกมส์ครั้งที่ 2 (2504) ที่พม่า กัมพูชาส่งนักกีฬาร่วมแข่งและรับงานต่อตามคิวคือจะต้องเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 3 ใน ปี 2506
แต่พอถึงเวลาที่จะรายงานความคืบหน้าก็เงียบ จนนำไปสู่การเลื่อนเซียพเกมส์ครั้งที่ 3 เพราะกัมพูชาไม่จัดก็ไม่แจ้ง จนทำให้สมาชิกเตรียมตัวไม่ทัน เซียพเกมส์ ที่ตกลงกันไว้ว่าจะจัด 2 ปี ต่อครั้ง ในปี 2506 จึงไม่มีจัดขึ้น (และเป็นช่วงเดียวนั้น ที่จำเป็นต้องว่างเว้นไป) เพราะมองว่าไทยเป็นชาติที่ขัดแย้งและเซียพเกมส์ไทยเป็นผู้ริเริ่ม
ในปี 2508 มาเลเซียจัดเซียพเกมส์ครั้งที่ 3 กัมพูชาส่งนักกีฬาแข่ง และในการประชุมสหพันธ์กีฬาเซียพเกมส์ก่อนแข่ง ก็รับอาสาจะเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 4 ในปี 2510 และในวันปิดครั้งที่ 3 ก็มีพิธีรับธงและขึ้นป้ายสวยหรูว่าเจอกัน ที่พนมเปญ
แต่จากนั้น มีนาคม ปี 2510 ก่อนหน้าที่จะจัดคือช่วงปลายปี 2510 กัมพูชา ที่ถูกทวงถามจากชาติสมาชิกว่าจะเอาอย่างไรกับการเป็นเจ้าภาพเพราะไม่มีความเคลื่อนไหว เมื่อเจอถามมาก เขาก็ทำหนังสือแจ้งสหพันธ์กีฬาเซียพเกมส์ ว่าขอลาออกจากการเป็นสมาชิก และที่ตามมาก็คือ “ไม่จัดซีเกมส์ครั้งที่ 4” สาเหตุที่ไม่ต้องคิดมากคือ เพราะกัมพูชาไม่สนใจที่จะทำอะไรที่ไทยร่วมงาน
ชาติสมาชิกต้องร้องขอให้ไทยเป็นผู้จัด เพราะตอนนั้นไทยเพิ่งจัดเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 ในปี 2509 เสร็จสิ้น ซึ่งเพื่อความต่อเนื่องของเซียพเกมส์ ไทยจึงรับจัดในปลายปี 2510
ถึงแม้กัมพูชาจะลาออกจากการเป็นชาติสมาชิกสหพันธ์กีฬาเซียพเกมส์ ช่วงนั้นแต่ต่อมา สหพันธ์กีฬาเซียพเกมส์ ก็โอนอ่อนและ รับเป็นสมาชิกอีกในโอกาสต่อมา ซึ่งก็เหมือนๆ เดิมคือ ในขณะที่ชาติอื่นๆ จัด กัมพูชาก็เข้าร่วม และต่อมาไทยจัดครั้งที่ 8 กัมพูชาก็ไม่ส่งเช่นเดิม จนมาถึง ปี 2528 วนมาถึงไทยจัดในนามซีเกมส์ ครั้งที่ 13 การเมืองระหว่างชาติผ่อนคลาย กัมพูชาจึงส่งนักกีฬาเข้าร่วมซีเกมส์ที่ไทยเป็นครั้งแรก ในรอบ 26 ปี ที่มีการจัดกีฬานี้ขึ้น
ซีเกมส์เดินไปได้สวย ชาติสมาชิกครบและมีเพิ่มเติมจนเป็น 11 ชาติ ก็นึกว่าปัญหาคาใจกับไทยเราจะยุติ แต่ก็ทำให้เห็นว่า รากลึกของความคิดผู้นำกัมพูชากับไทยไม่เคยเปลี่ยนคือ 2 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาจัดซีเกมส์เป็นครั้งแรก ก็ไม่จัดมวยไทย และนำกีฬามวยของตัวเองจัดแทน เพราะมีคำว่าไทย
และหากย้อนความแสบ ที่ช่วงนั้นมีการระบุชัดเจนคือ “กัมพูชาจะทำทุกอย่างเพื่อด้อยค่าไทย” คือปี 2509 ที่ไทยเตรียมจัดเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 ในวันที่ 9-20 ธ.ค.2509 ที่นับว่าเป็นงานใหญ่ซึ่งเป็นหน้าตาของชาติไทย ทางกัมพูชาก็ขอจัดกีฬารายการหนึ่งคือ Ganefo เกมส์ (กีฬาที่อินโดนีเซียริเริ่ม เพื่อต่อสู้กับปัญหาเรื่องกีฬาที่ตัวเองเจอบอยคอต เลยจัดกีฬานี้ที่คล้ายโอลิมปิกเกมส์ โดยเชิญชาติที่อยู่ในกลุ่มสังคมนิยม ประเทศเกิดใหม่ช่วงนั้นเข้าแข่ง รวมทั้งกัมพูชาก็ไปแข่ง) โดยครั้งที่ 2 จัดที่เกาหลีเหนือ และกัมพูชาขอจัด Ganefo เกมส์ ในครั้งที่ 3 กัมพูชาจัดก็เปลี่ยนชื่อรายการมาเป็น 1st Asian GANEFO 1966 คล้ายกับกีฬาของชาวเอเชียครั้งที่ 1 และ เลือกปีที่จัด ปีเดียวกับไทยจัดเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 คือปี 2509 และชาติที่เชิญก็ชาติในเอเชีย ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นชาติที่ไทยเชิญแข่งเอเชี่ยนเกมส์
และที่ชัดเจนในมุมมอง “ว่าเป็นเรื่องการเมืองชัดๆ” คือกัมพูชาจัดระหว่าง 25 พ.ย.-6 ธ.ค.2509 ซึ่งเป็นก่อนที่เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 ที่ไทยจะเริ่มเพียง 3 วัน แต่ถึงจะรู้ว่ากัมพูชาทำงานนี้เพราะอะไร เพื่ออะไร แต่ไทยก็จัดได้สมบูรณ์เพราะชาติสมาชิกเอเชี่ยนเกมส์เลือกส่งนักกีฬามาแข่งที่ไทยครบ ส่วนงานกีฬาของกัมพูชานั้น มีชาติที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเอเชี่ยนเกมส์ส่งทีมชาติไปแข่งที่กัมพูชา ขณะที่ชาติซึ่งเป็นสมาชิกเอเชี่ยนเกมส์บางชาติที่ที่เห็นใจกัมพูชา ก็จัดส่งนักกีฬาระดับล่างๆ ไปแข่ง เพราะนักกีฬาทีมชาติส่งมาแข่งที่ไทย แล้ว
นี่คือเรื่องราวหนึ่งในอดีตที่มองถึงปัจจุบันได้ ของ “กัมพูชากับไทย” ในเรื่องกีฬา ที่แล้วแต่ผู้อ่านจะสรุปเองว่าอย่างไร
กับคำถามง่ายๆ เบื้องต้นว่า
1.กัมพูชามีรากลึกของปัญหากับไทย ที่แยกไม่ออก ใช่ไหม
2.การร้องสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ให้ร่วมบอยคอตกัมพูชา มีโอกาสเป็นจริงไหม
3.แท้ที่จริงกัมพูชากับเรื่องใดๆ ที่เราจะใช้คำว่าเจ้าภาพซีเกมส์ เป็นเครื่องมือ เขาจะสนอะไรไหม
และอยากจะขอร่วมตอบเองด้วยว่า
1.กัมพูชามีปัญหากับไทยอย่างหยั่งรากลึกแน่นอนทุกด้าน
2.การร้องสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ให้ร่วมบอยคอยกัมพูชา จะไม่เกิดผลใดๆ เพราะทุกชาติจะไม่ตัดสินใจตามที่ไทยหวัง ถึงแม้ไทยจะมีบทบาทสำคัญในซีเกมส์ก็ตาม
3.กัมพูชาเขาจะไม่สนใจกับไทยที่จะใช้กีฬาซีเกมส์เป็นเครื่องมือ
#ถ้ามีคำถามว่าแล้วไทยจะทำอย่างไรต่อ….ก็ขอสรุปข้อคิดเห็นส่วนตัวแบบวิพากษ์ว่า แนวคิดกับทางที่จะเดินของรัฐไทยกับเรื่องนี้ไม่ผิดแต่ไม่ควร และมีข้อเสนอและเหตุผลดังนี้
1.ไทยไม่ควรดิ้นไปนำเรื่องเข้าสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ ซึ่งทำได้ ตามขั้นตอนดูดี แต่จะไร้ค่า ทำให้ชาติสมาชิกอึดอัด เสียเครดิต เปล่าๆ เพราะรู้ผลอยู่แล้วว่าไม่มีทางที่ชาติสมาชิกจะร่วมแนวทางที่หวังของเรา
2.ฝ่ายจัดการแข่งขันซีเกมส์หรือผู้นำกีฬารัฐไทย ไม่ควรต้องโชว์ความเข้มแข็ง ด้วยการต้องออกข่าวใดๆ ควรนั่งโลกสวยอยู่เฉยๆ แบบไม่ต้องสนใจกัมพูชาในช่วงเวลานี้ เพราะโชว์มากจะมีผลอื่นๆ ตามมา สู้รอฟังเขาจะตัดสินใจเองไปเรื่อยๆ ดีกว่าแน่นอน
3.สุดท้าย หากเมื่อถึงเวลาที่ต้องเชิญชาติสมาชิกร่วมอย่างเป็นทางการ หากรัฐไทยไม่อยากให้เขามา สิ่งที่ควรทำคือ ก็ไม่ต้องเชิญก็จบ เพราะเราเป็นชาติเจ้าภาพ เจ้าของพื้นที่ประเทศไทย