มจธ. ตั้งเป้าพัฒนาวิศวกรรมชั้นสูง พร้อมปั้นนวัตกรรมพลิกโฉม “เมกะซิตี้ไทย” เดินหน้าผลิตกำลังคนทักษะสูงด้านเทคโนโลยีวัสดุและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แก้ปัญหาเมือง รับมือภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มหานคร (Megacity) คือ เมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นตั้งแต่ 10 ล้านคนขึ้นไป การเติบโตของเมืองในระดับนี้มักนำมาซึ่งปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่มีการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอ โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และความท้าทายในการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ การพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นแนวหน้า จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ให้เกิดความยั่งยืนได้

ศาสตราจารย์ ดร.ชัย จาตุรพิทักษ์กุล

ศาสตราจารย์ ดร.ชัย จาตุรพิทักษ์กุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ หัวหน้าโครงการวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นแนวหน้าในอุตสาหกรรมก่อสร้างเพื่อรองรับการพัฒนาเมกะซิตี้แห่งอนาคต กล่าวว่า ประเทศไทยมีกรุงเทพมหานคร เป็นมหานครขนาดใหญ่ หรือ เมกะซิตี้ รวมทั้งเมืองเศรษฐกิจสำคัญอย่างเชียงใหม่ เมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทางภาคตะวันออก มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเมืองไปสู่การเป็นเมกะซิตี้ในอนาคต ซึ่งการบริหารการก่อสร้างหรือพัฒนาเมกะซิตี้เหล่านี้ จำเป็นต้องครอบคลุมการออกแบบและใช้วัสดุอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดคาร์บอน การพัฒนาระบบ Smart Mobility ที่มีทั้งการจราจรอัจฉริยะและการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นเมืองขนาดใหญ่

ตัวอย่างงานวิจัย 

โครงการฯ นี้ได้รับทุนสนับสนุนกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2568 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จำนวน 15 ล้านบาท และงบประมาณสนับสนุนจาก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. จำนวน 3 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 18 ล้านบาท มีระยะเวลาการดำเนินงานวิจัย 3 ปี โดยมีเป้าหมายหลักที่จะมุ่งพัฒนากำลังคนทักษะสูงที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีวัสดุ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการก่อสร้างและบริหารจัดการเมกะซิตี้ และการสร้างองค์ความรู้ใหม่ 4 ด้าน ได้แก่ 1. เทคโนโลยีวัสดุใหม่และการก่อสร้างแห่งอนาคต โดยมุ่งพัฒนา Green Technology สำหรับงานก่อสร้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ มีความยั่งยืน และทนทาน รวมถึงการวิจัยวัสดุสำหรับการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) 2. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการก่อสร้างและบริหารจัดการ เน้นการประยุกต์ใช้ AI ในการบริหารจัดการน้ำ การบำบัดน้ำเสีย และปัญหาขยะ 3. เทคโนโลยีเพื่อรองรับภัยพิบัติต่าง ๆ ทั้งภัยจากธรรมชาติ (เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว) และภัยจากความมั่นคง (เช่น การก่อการร้าย) เน้นการประยุกต์ใช้กลศาสตร์การคำนวณขั้นสูงและเทคโนโลยีการตรวจสมัยใหม่ รวมถึงการเก็บข้อมูลอัจฉริยะ (Smart Data) สำหรับการบริหารจัดการเมืองใหญ่และพัฒนาระบบเตือนภัยสำหรับโบราณสถาน และ 4. เทคโนโลยีการสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) เน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบราง การขนส่งทางเรือ และการจัดการขนส่งในเมืองใหญ่ รวมถึงการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงมาตรฐานในด้านความปลอดภัยสำหรับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

รองศาสตราจารย์ ดร.วีรชาติ ตั้งจิรภัทร

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล ผู้อำนวยการโครงการเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธา และรองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา มจธ. และ รองศาสตราจารย์ ดร.วีรชาติ ตั้งจิรภัทร หัวหน้าห้องปฏิบัติการคอนกรีต ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ได้กล่าวถึงบทบาทของวิศวกรรมโยธาในการพัฒนาเมกะซิตี้ว่า รากศัพท์ของโยธามาจาก Civil Engineering หมายถึง วิศวกรรมพลเรือน ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับคนและเมือง ดังนั้น วิศวกรรมโยธาจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมกะซิตี้ โครงการนี้มุ่งสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ด้านวิศวกรรมชั้นสูงและวิจัยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับปัญหาเมืองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะการปลูกฝังกระบวนการคิด ตั้งแต่โจทย์วิจัยไปจนถึงการบริหารจัดการ เพื่อให้มีคนทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ การสร้างคนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้แข่งขันได้ในระดับโลก และงานวิจัยกลุ่มนี้น่าจะตอบสนองนโยบายระยะยาวของประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.ชัย กล่าวเสริมว่า ในประเทศไทยมีบุคลากรที่จบวิศวกรรมโยธาอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่จะทำงานในภาคสนามหรืองานก่อสร้างเป็นหลัก แต่คนที่ทำงานด้านวิจัยชั้นสูง (Advanced research) เพื่อสร้างมาตรฐานและกำหนดทิศทาง รวมถึงแก้ปัญหาที่ซับซ้อนทางวิชาการและวิชาชีพยังมีไม่มาก ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องทำงานและพัฒนาวิศวกรรมชั้นสูงเพิ่มมากขึ้น เพราะงานวิจัยชั้นสูงเป็นงานวิจัยที่ใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง และครอบคลุมมากกว่างานวิจัยทั่วไป ที่ผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจะทำได้

 

วัสดุก่อสร้างแห่งอนาคต

ผลผลิตที่ได้จากโครงการนี้ จะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาเมกะซิตี้แห่งอนาคตของประเทศไทยในทุกมิติ ทั้งด้านกำลังคนทักษะสูง ด้านนวัตกรรมวัสดุสมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการบริหารจัดการเมือง การประเมินความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายเพื่อการสร้างเมืองแห่งอนาคตที่ยั่งยืน เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน”

RANDOM

NEWS

โครงการห้องเรียนเคมีดาว เชิญชวนครูระดับมัธยมศึกษาเข้าร่วมประกวด “โครงงานวิทยาศาตร์ Dow-CST Award ประจำปี 2568” ชิงรางวัลรวมกว่า 160,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ เปิดรับสมัครโรงเรียนเข้าร่วมประกวด ตั้งแต่บัดนี้ – 30 กันยายน

มูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช มอบ “ทุนวชิรญาณสังวร” เป็นทุนการศึกษาแบบให้เปล่าต่อเนื่องจนจบปริญญาตรี แก่นักเรียนและนักศึกษาไทยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทั่วประเทศ จำนวน 73 ทุน หมดเขตสมัคร 19 ก.ค. นี้

มูลนิธิทรัพย์ปัญญา ร่วมกับ กองทัพเรือ บริษัท GPSC และ ม.กรุงเทพธนบุรี เชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ร่วมประกวดเรียงความ ในหัวข้อ “ประเทศไทยในอนาคต ที่ฉันฝันเห็น” ชิงทุนการศึกษารวม 84,000 บาท หมดเขตส่งผลงาน 31 สิงหาคม

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!