มูลนิธิเอสซีจี เดินหน้าแนวคิด Learn to Earn เสริมพลังครูไทย เปิดมุมมองอาชีพแห่งอนาคต ส่งต่ออาชีพที่ใช่ให้เยาวชนไทย

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวและไม่หยุดที่จะเรียนรู้ คือ กุญแจสำคัญสู่ความอยู่รอด มูลนิธิเอสซีจี จึงได้ผลักดันแนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” มาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ร่วมกับ InsKru จัดกิจกรรมสุดสร้างสรรค์ “Human Library” ขึ้น ในงาน InsKru Festival 2025 ที่เปิดพื้นที่ให้คุณครูทั่วประเทศได้พบปะกับ “หนังสือมนุษย์” ตัวจริงจากหลากหลายอาชีพสุดฮอตในโลกปัจจุบัน ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ตรง พร้อมเผยเส้นทางอาชีพ และบอกเล่าทักษะที่จำเป็น เพื่อให้คุณครูนำไปจุดประกายเป็นไอเดียให้เด็กรุ่นใหม่ได้เตรียมพร้อมสู่โลกการทำงานในอนาคต

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ บางอาชีพที่เคยถูกมองข้ามกลับกลายเป็นอาชีพดาวรุ่งพุ่งแรง อย่างด้านสาธารณสุข เช่น ผู้ช่วยพยาบาล นักกายภาพบำบัด เป็นต้น หรือบางอาชีพที่เติบโตมาสักพัก แต่อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่เมื่อโลกให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง อาชีพ “นักออกแบบการเรียนรู้” ก็กลายเป็นที่ต้องการจากทั้งสถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการพัฒนาบุคลากร หรือแม้แต่อาชีพสุดล้ำอย่าง “ที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” ที่ใช้ความรู้ด้านสถิติและเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน ซึ่งแต่ละอาชีพที่มาร่วมงาน Human Library ยังได้มอบมุมมองและแนวคิดดี ๆ ที่คุณครูสามารถนำไปถ่ายทอดสู่นักเรียนได้อย่างแน่นอน

มะโหนก ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ นักออกแบบการเรียนรู้ (Learning Designer) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท BlackBox ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้าน Visual Training และเป็นที่รู้จักในฐานะนักออกแบบการเรียนรู้ระดับแถวหน้าของประเทศไทย ในฐานะที่มาร่วมเป็น “หนังสือมนุษย์” ในครั้งนี้ มองว่า การเรียนรู้ไม่ได้มีแค่ในตำรา แต่ต้องสร้างความรู้สึกร่วมไปกับเนื้อหา ระบบการศึกษาจึงควรทำงานร่วมกับนักสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนา Soft Skills ซึ่งเป็นทักษะสำคัญต่อการอยู่รอดในโลกยุคใหม่ ทำให้อาชีพนักออกแบบการเรียนรู้มีความท้าทายในการสร้างสรรค์คอร์สที่โดนใจลูกค้า ซึ่งอาชีพนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่จบครุศาสตร์เท่านั้น แต่คนที่มีความรู้ด้านการออกแบบกิจกรรม จิตวิทยาการเรียนรู้ และที่สำคัญ คือ มี Soft Skills การเข้าใจผู้คน การฟัง และการสังเกต จะสามารถก้าวเข้ามาในสายงานนี้ได้อย่างน่าสนใจ

มะโหนก ยังเสริมเกี่ยวกับแนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ว่าในมุมของตนมองว่า มีถึง 3 ระดับ เริ่มจากการอยู่รอดในการทำอาชีพด้วย Hard Skills ที่ระบบการศึกษาสามารถมอบให้ ตามด้วยการอยู่รอดอย่างมีความสุข และสุดท้าย คือ การอยู่รอดอย่างมีคุณค่าและเติบโตทางจิตวิญญาณ ซึ่งสองระดับหลังนี้ต้องอาศัยการเรียนรู้นอกห้องเรียนควบคู่กันไป เพื่อให้คนหนึ่งคนมีทั้งความรู้ความสามารถ (Hard Skills) และทักษะชีวิต (Soft Skills) ที่สมบูรณ์ แม้ว่าอาชีพนักออกแบบการเรียนรู้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นอาชีพที่กำลังมาแรงในยุคที่ทุกคนต้องเรียนรู้เพื่ออยู่รอด เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากอาชีพที่สอนการเรียนรู้นอกตำราแล้ว กระแสของสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ได้สร้างอาชีพใหม่ที่น่าจับตามองอย่าง “ที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลตลาดให้กับนักลงทุนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่ในพอร์ต โดย แน็ก และ เฟิร์ส สองที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล จาก บริษัท Merkle Capital เป็นบริษัทที่จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของประเทศไทย ในเครือของ บริษัท Cryptomind Group และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ฉายภาพให้เห็นว่า โลกการเงินยุคใหม่เป็นสิ่งที่คุณครูควรทำความเข้าใจ สำหรับคนที่สนใจสายงานนี้ Hard Skills ที่จำเป็น คือ ความรู้ด้านการลงทุน เศรษฐศาสตร์ การวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยี และเศรษฐศาสตร์ดิจิทัล โดยเน้นที่ศาสตร์แห่งสถิติมากกว่าวิทย์-คณิต คุณครูสามารถสอดแทรกแนวคิดเรื่องการบริหารความเสี่ยง และการรู้เท่าทันการเงิน เพื่อเป็นพื้นฐานความรู้ให้กับนักเรียนได้ ส่วน Soft Skills ที่สำคัญ คือ ทักษะการสื่อสารที่เข้าใจง่าย หลักจิตวิทยา และจริยธรรมในการทำงาน

แน็ก และ เฟิร์ส ยังฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลว่า การเรียนรู้ด้วยตนเองแบบออนไลน์ ต้องมีวิจารณญาณในการเลือกรับข้อมูล (critical thinking) ควรศึกษาจากหนังสือควบคู่ไปกับการติดตามอินฟลูเอนเซอร์อย่างมีสติ หลักสำคัญของการลงทุน คือ การพิจารณาข้อมูลควบคู่ไปกับจิตวิทยา การเริ่มต้นเรียนรู้เร็วเป็นเรื่องดี แต่ความสำเร็จไม่ได้มาจากแค่ Hard Skills หรือ Soft Skills เท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยประสบการณ์อีกด้วย

ปิดท้ายด้วย อาชีพในสายสุขภาพที่ยังอยู่ในกระแสความนิยม นั่นคือ “ทันตแพทย์” ทพญ.สิรินันท์ นคเรศไอศูรย์ หรือ หมอตุ้ม ทันตแพทย์จากสถาบันทันตกรรม อีกหนึ่ง “หนังสือมนุษย์” ได้เล่าว่า ในวงการทันตกรรมมีหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ นักวิชาการทันตาภิบาล และช่างทันตกรรม ซึ่งแต่ละอาชีพก็มีเส้นทางการศึกษาและความก้าวหน้าที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะ ช่างทันตกรรม ที่เป็นที่ต้องการสูงและมีความอิสระในการทำงาน

หมอตุ้ม เน้นย้ำว่า นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว ทันตแพทย์และบุคลากรในวงการนี้ จำเป็นต้องมี Soft Skills รอบด้าน เพราะเป็นการทำงานใกล้ชิดกับความรู้สึกของผู้ป่วย ทักษะสำคัญ ได้แก่ ความละเอียดและช่างสังเกต ทักษะด้านศิลปะ ความอดทน การมีสติ การคิดก่อนพูด มนุษยสัมพันธ์ที่ดี และทักษะในการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจและลดความกังวลให้กับผู้ป่วย รวมถึงการทำงานร่วมกับทีม

กิจกรรม Human Library โดย มูลนิธิเอสซีจี ในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ให้กับคุณครูเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ ทักษะสำคัญของการอยู่รอดในโลกยุคปัจจุบัน เมื่อคุณครูได้ฟังประสบการณ์จริงจากหลากหลายอาชีพ จะช่วยให้มีข้อมูลที่จับต้องได้ และนำไปใช้ในการแนะแนว สอนทักษะชีวิต หรือ จุดประกายอาชีพในอนาคตให้นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในวันที่โลกหมุนเร็วจนน่าตกใจ คุณครูไม่จำเป็นต้องรู้ทุกสิ่ง แต่การเปิดใจเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน คือ กุญแจสำคัญที่จะพานักเรียนไปสู่เป้าหมายได้ไกลที่สุด

ติดตามความคืบหน้าของกิจกรรมโครงการ Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด และติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org และ Facebook & TikTok : LEARNtoEARN

RANDOM

มูลนิธิอิออน 1% คลับ เชิญชวนน้อง ๆ ม.ปลาย เข้าร่วมแข่งขัน “AEON Powered Youth Idea Contest 2025” นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เฟ้นหาตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมแข่งขัน “Asia Youth Leaders 2025” ที่กัมพูชา

NEWS

ทุนมูลนิธิบัญชา สุรัติ ภาณุประภา ประจำปี 2568 สำหรับนักเรียน นักศึกษา ทุกระดับชั้น ตั้งแต่ อนุบาล-ปริญญาตรี ที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นทุนให้เปล่า แบบไม่ต่อเนื่อง น้อง ๆ ที่สนใจยื่นใบสมัครได้ถึง 31 พ.ค. นี้

สถาบันขงจื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชวนประกวดวาดภาพระดับเยาวชน หัวข้อ “สร้างสรรค์จินตนาการ สานสัมพันธ์ไทย-จีน” เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ปิดรับผลงาน 1 มิถุนายน

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!