สวก. เปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัย หัวข้อ Selected Topics เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อสนับสนุนทุนวิจัย ประจำปี 2566

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สํานักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เปิดรับข้อเสนอ โครงการวิจัยประจำปีงบประมาณ 2566 ภายใต้หัวข้อ Selected Topics เครื่องจักรกลการเกษตร โดยเน้นการสนับสนุนทุนวิจัยที่จะก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัด (OKR) ระดับประเทศ ตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสามารถแก้ไขปัญหาท้าทาย และปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม มาพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมยกระดับการเกษตรแบบ Smart farming ในชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและลดการใช้แรงงาน ทั้งยังมีศักยภาพในด้านการเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งในปี 2565 ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรยังสามารถขยายตัวต่อไปได้ โดยคาดว่าจะมีมูลค่าราว 84,600-87,900 ล้านบาท แต่ยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนในประเด็นต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรและตลาดส่งออกในปัจจุบัน

สวก. จึงได้จัดให้มีการประชุมหารือพัฒนาประเด็นวิจัยที่มีความเฉพาะเจาะจงกับความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แบบ Selected Topic ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ พืชไร่ พืชสวน (ทุเรียน) และประมง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ด้านพืชไร่ ประกอบด้วย 2 กรอบงานวิจัย คือ
1. การพัฒนาทักษะและยกระดับเครื่องจักรกลให้เหมาะสมกับการใช้งาน
ประเด็นวิจัย
1) การพัฒนาสมรรถนะและประสิทธิภาพเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของเกษตรกรในช่วงวัยต่างๆ
2) การพัฒนาทักษะและเกณฑ์ข้อกำหนดในการรับจ้างของผู้รับจ้าง (Service provider) ทางการเกษตรให้มีมาตรฐาน
2. มาตรฐานเครื่องจักรกลและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทางการเกษตร
ประเด็นวิจัย
1) การยกระดับมาตรฐานเครื่องจักรกลและศูนย์การตรวจรับรองมาตรฐานเครื่องจักรกลที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
2) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับภาครัฐในการสนับสนุนด้านการผลิต การใช้งานและการส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตร
3) การพัฒนาฐานข้อมูลในด้านประสิทธิภาพและสถานะภาพการใช้งานเครื่องจักรกลทางการเกษตรของประเทศไทย

ด้านพืชสวน(ทุเรียน) ประกอบด้วย 3 กรอบงานวิจัย คือ
1. เทคโนโลยีการผลิต
ประเด็นวิจัย
1) การพัฒนาฐานข้อมูลความต้องการน้ำ และปุ๋ยอย่างแม่นยำตามความต้องการของต้นทุเรียนในแต่ละระยะของการพัฒนา เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มระบบการผลิตทุเรียนอย่างแม่นยำ
2) การศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนของการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในสวนทุเรียน ทั้งสวนทุเรียนเก่า และสวนทุเรียนใหม่เพื่อนำไปสู่การเลือกใช้เครื่องจักรกลการเกษตร และรูปแบบการใช้ที่เหมาะสม หรือเป็นข้อมูลสำหรับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนรูปแบบสวนทุเรียนที่เหมาะสมกับเครื่องจักรการเกษตรที่มีอยู่ ภายใต้เงื่อนไข ความคุ้มค่าในการลงทุน
3) การทดสอบประสิทธิภาพเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศไทย และ/ หรือจากต่างประเทศ เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับสวนทุเรียนเก่าและสวนทุเรียนใหม่ หรือพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับสวนทุเรียนของประเทศไทย (Reverse engineering) โดยมุ่งเน้น เครื่องฉีดพ่นยา เครื่องตัดหญ้า เครื่องตัดแต่งกิ่ง เป็นต้น

2. เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
ประเด็นวิจัย
1) การพัฒนาเครื่องตรวจวัดความอ่อนแก่ทุเรียนหมอนทอง ที่มีความแม่นยำมากกว่าร้อยละ 95 และมีความเร็วในการตรวจวัดไม่เกิน 15 วินาที/ผล
2) การพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาทุเรียนหมอนทองแก่ (น้ำหนักเนื้อแห้งมากกว่า 35%) ให้มีอายุการเก็บรักษา ไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์

3. การพัฒนาเทคโนโลยีด้านดิจิตอลแพลทฟอร์ม เพื่อการบริหารจัดการทุเรียนทั้งระบบ
ประเด็นวิจัย
1) การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อบริหารจัดการทุเรียนทั้งระบบตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่กระบวนการผลิต จนถึงการตลาด เช่น ทะเบียนชาวสวนเกษตรกร ระบบเตือนภัยเกษตรกร ระบบการคาดการณ์/พยากรณ์ผลผลิต ทะเบียนโรงคัดบรรจุ ระบบโลจิสติกส์ และการตลาด เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐ

ด้านประมง ประกอบด้วย 3 กรอบงานวิจัย คือ
1. เครื่องจักรกลเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ประเด็นวิจัย
1)การวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลเพื่อใช้ควบคุมคุณภาพ หรือ พัฒนาการเพาะเลี้ยงในโรงเลี้ยง / โรงเพาะฟัก เช่น smart aquaculture ที่ผู้ประกอบการยอมรับ
2. เครื่องจักรกลด้านการทำประมง
ประเด็นวิจัย
1)การวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลเพื่อลดต้นทุนพลังงาน / เชื้อเพลิง หรือ การใช้แรงงาน

3. เครื่องจักรกลเพื่อการบริหารจัดการและแปรรูปประมง
ประเด็นวิจัย
1) การวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลเพื่อการแปรรูปสินค้าประมงระดับกลาง และระดับเล็ก
2) การวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลเพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าประมง เช่น เครื่อง fish pump
3) การศึกษาความต้องการเครื่องจักรกลที่เหมาะสมในพื้นที่ทำประมงขนาดต่างๆ

การส่งข้อเสนอโครงการวิจัย
ท่านที่มีความประสงค์ที่จะยื่นข้อเสนอโครงการวิจัย สามารถลงทะเบียนส่งข้อเสนอโครงการวิจัย ผ่านระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งขาติ (National Research and Innovation Information System : NRIIS) ในเว็บไซต์ http://nriis.nrct.go.th/Login.aspx โดยกรอกข้อมูลรายละเอียดการยื่นข้อเสนอโครงการวิจัย และหนังสือนําส่งการขอรับทุนอุดหนุนการวิจัย พร้อมแนบไฟล์ข้อเสนอโครงการวิจัยในรูปแบบ MS Word และ PDF พร้อมไฟล์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรายละเอียดเอกสารแบบข้อเสนอโครงการท่านสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ของ สวก. และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้ที่เว็บไซต์ http://www.arda.or.th/research-fund02.php โดยระบบ NRIIS จะเปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัย ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม – 30 พฤศจิกายน 2565 เวลา 23.59 น. เท่านั้น หากพ้นกําหนด สวก. จะไม่รับพิจารณา

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3Dq2gJB

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-579-7435

 

RANDOM

error: Content is protected !!