การศึกษานิวซีแลนด์ จับมือ 5 โรงเรียนดังระยอง ต่อยอดโครงการห้องเรียนดิจิทัล ปี 2022

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นางสาวช่อทิพย์ ประมูลผล ผู้อำนวยการ ประจำประเทศไทย หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand ; ENZ) สถานทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการ New Zealand – Thailand Digital Classroom จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เริ่มตั้งแต่ปี 2020 ช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทำให้มีข้อจำกัดและอุปสรรคในการเดินทางทั่วโลก การศึกษานิวซีแลนด์ จึงได้ริเริ่มโครงการ New Zealand – Thailand Digital Classroom ขึ้น เพื่อช่วยสานต่อความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างครูและนักเรียนไทย กับ ครูและนักเรียนชาวนิวซีแลนด์ ผ่านการทำงานและกิจกรรมออนไลน์ร่วมกัน ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือทางการศึกษาข้ามพรมแดนระหว่างโรงเรียนในนิวซีแลนด์และโรงเรียนไทยในรูปแบบที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น นักเรียนมีโอกาสพัฒนาและสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม และชื่นชมในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ตลอดจนพัฒนาทักษะที่จำเป็น เช่น การคิดเชิงวิเคราะห์ การทำงานร่วมกันข้ามวัฒนธรรม และการสื่อสาร นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ครูจากทั้งสองโรงเรียนได้แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของวิธีการสอน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศ และปรับปรุงความสามารถทางวัฒนธรรม

ทั้งนี้ โครงการ New Zealand – Thailand Digital Classroom มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 300 คน จากโรงเรียนต่าง ๆ เช่น ในปี 2521 ที่ผ่านมา โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ระยอง, โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต, โรงเรียนวัดป่าประดู่ จ.ระยอง, โรงเรียนระยองวิทยาคม, โรงเรียนธัญบุรี และ โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย

สำหรับในปี 2022 การศึกษานิวซีแลนด์ ได้จัดโครงการนี้ ร่วมกับ Christchurch Educated ซึ่งเป็นหน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคของเมืองไคร์เชิร์ช นิวซีแลนด์ และ กลุ่มโรงเรียนในจังหวัดระยอง โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จากเมืองไคร์เชิร์ช นิวซีแลนด์ 5 โรงเรียน และ จากจังหวัดระยอง 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ระยอง, โรงเรียนวัดป่าประดู่ จ.ระยอง, โรงเรียนระยองวิทยาคม โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา และ โรงเรียนมาบตพุดพันพิทยาคาร

ซึ่งกิจกรรมในโครงการ ประกอบด้วย การจับคู่ระหว่างโรงเรียนนิวซีแลนด์และโรงเรียนไทย โดยครูจากสองโรงเรียนตกลงในการคัดเลือกนักเรียนและจำนวนนักเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการ ช่วงวันและเวลา และระยะเวลาในการจัดโครงการตามความเหมาะสม โดยครูจะเป็นผู้กำหนดหัวข้อกิจกรรมแต่ละสัปดาห์ และนักเรียนจากทั้งสองประเทศจะถูกจับกลุ่มร่วมกัน เพื่อทำงานกลุ่มที่ได้รับมอบหมาย มีการประชุมผ่านทางออนไลน์ทุกสัปดาห์ เพื่อปรึกษาโครงการ และนำเสนอผลการวิจัย ใช้ระยะเวลาเรียนประมาณ 5 สัปดาห์

“น้องเบียร์” นายวันชัย กระจ่าง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่5 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ระยอง เล่าประสบการณ์ที่เคยได้ร่วมโครงการนี้ว่า ผมรู้สึกประทับใจมาก ๆ ที่เด็กต่างจังหวัด ซึ่งขาดแคลนประสบการณ์ด้านภาษาและวัฒนธรรม ได้รับโอกาสดี ๆ ที่จะฝึกภาษาอังกฤษ และทักษะต่าง ๆ เป็นการเปิดโลกให้กับเด็กอย่างผมมาก ที่ได้มีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานของเขาผ่านห้องเรียนออนไลน์ที่สะดวกสบาย ประสบการณ์ที่ได้ คือ การเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าสู่สังคมโลกภายนอก, ทุกวันนี้โลกของเราก้าวหน้าไปมาก ทักษะที่จำเป็น คือ ทักษะการเรียนรู้ที่จะปรับตัว ทำให้ผมจะต้องปรับตัวเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน ๆ จากประเทศนิวซีแลนด์ ทำให้ผมและเพื่อน ๆ ที่ร่วมโครงการกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้น และที่สำคัญ คือ กล้าที่จะใช้ภาษาอังกฤษด้วยครับ

ด้าน “น้องแป๋ม” นางสาวกัลยา พนรเขต  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนระยองวิทยาคม เล่าว่า ตอนแรกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม New Zealand – Thailand digital classroom รู้สึกตื่นเต้นและกังวลมากค่ะ เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่จะได้เจอได้ทำความรู้จักกับเพื่อนชาวต่างชาติ ถึงแม้ว่าจะเป็นการเจอกันแบบออนไลน์ก็ยังคงตื่นเต้นมาก ๆ อยู่ดี หลังจากที่พวกเราได้ Contacts ของเพื่อนนิวซีแลนด์มาแล้ว พวกเราก็คุยกันค่อนข้างเยอะนะคะ เพราะว่าต้องทำงานด้วยกัน ก็เลยต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนทั้งการใช้ชีวิต การเรียน การศึกษา ประสบการณ์ต่าง ๆ มากมายในชีวิตวัยรุ่น ปัญหาต่าง ๆ ที่เราทั้ง 2 ประเทศพบเจอ ทั้งสนุก ทั้งได้เปิดโลก เปิดมุมมองที่ในบางครั้งเราไม่เคยรู้ ที่สำคัญ คือ พวกเค้าน่ารักมาก ๆ ค่ะ คุยสนุกมาก ต่างคนต่างสนใจการใช้ชีวิตของกันและกัน ทำให้มีเรื่องให้คุยกันตลอดค่ะ

ทางด้าน “น้องกาละแมร์” นางสาวอุบลวรรณ สุพรมอินทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดป่าประดู่ จ.ระยอง เล่าถึงประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการ Digital classroom ในปี 2021 ว่า โครงการ New Zealand – Thailand digital classroom ถือเป็นโอกาสที่ดีของคนที่ไม่สามารถไปสถานที่จริง แต่การเรียนออนไลน์ทำให้เราสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า สะดวก ได้รับความรู้เหมือนกัน ถึงแม้จะไม่ได้สัมผัสบรรยากาศตรงนั้น เรียนรู้สภาพแวดล้อมตรงนั้นจริง ๆ แต่ก็ยังเป็นอะไรที่มอบประโยชน์และประสบการณ์ให้เราได้ไม่น้อยเลย ได้เปิดโลกมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมของนิวซีแลนด์มากขึ้น ได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่เป็นชาวต่างชาติจากทางออนไลน์ ได้ทำงานร่วมกัน โชคดีที่ได้เพื่อนในทีมที่น่ารัก เฟรนลี่มาก ๆ ตั้งใจทำงาน พยายาม Discuss หาเรื่องพูดคุย พยายามให้ได้รู้จักกันมากขึ้น ได้แชร์วัฒนธรรมอาหารของไทยให้กับเขา ได้ฝึกให้มีความรับผิดชอบ ที่สำคัญที่สุด คือ ได้ฝึกภาษาอังกฤษ ได้ใช้สื่อสารกับ Native speaker (ครูพื้นเมือง) ช่วยเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น ประสบการณ์ที่ได้รับจากโครงการนี้ เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ถึงจะเหนื่อยหน่อย เพราะเวลาไม่ค่อยตรงกัน แต่ทุกคนทุ่มเทใส่ใจกับงานมาก ๆ ค่ะ

RANDOM

error: Content is protected !!